หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » วรรณคดีไทย มรดกไทย » วรรณคดีสำหรับครู
 
เข้าชม : ๒๒๑๐๒ ครั้ง

''วรรณคดีสำหรับครู''
 
กิตติพงศ์ ดารักษ์

การสอนวรรณคดียุคปฏิรูปการศึกษาไทย

  

                วรรณคดีไทย    เป็นภูมิปัญญาของกวีหรือนักประพันธ์ไทย  เปรียบเสมือนเพชรล้ำค่าเป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทยมาทุกยุคทุกสมัย  ซึ่งสะท้อนภาพของสังคมไทยตามทัศนะและประสบการณ์ของกวีที่อยู่ในสังคมนั้น ๆ โดยนำเสนอภาพตามมุมมองของตนผ่านตัวอักษรในแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวรรณศิลป์ ออกสู่สายตาผู้อ่าน  ดังนั้น การศึกษาวรรณคดี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. ๒๕๔๒  บรรลุจุดมุ่งหมายได้เป็นอย่างดี  เพราะวรรณคดีก็คือ ภาพสะท้อนสังคมหรือเปรียบเสมือนกระจกเงาบานใหญ่ของสภาพสังคมไทย

                การสอนวรรณคดีไทย มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมองเห็นคุณค่าและช่วยธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทย  นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิด  พฤติกรรม  ค่านิยมของคนในยุคสมัย นั้น ๆ  ว่าเป็นอย่างไรรวมไปถึงคติข้อคิด อุทาหรณ์สอนใจจากวรรณคดีเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่กวีได้ฝากไว้ผ่านกลวิธีการประพันธ์ในงานวรรณคดีนั้น ๆ

                ที่ผ่านมาโดยทั่วไปการสอนวรรณคดียังเป็นการสอนอ่านเอาเรื่อง ผู้สอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายและท่องจำศัพท์โบราณหรือศัพท์ยาก ๆ  เพื่อจะได้เก็บไว้ตอบคำถามในการทำข้อสอบ หรือไม่ก็มุ่งเน้นให้ผู้เรียนแปลความหมายในงานประพันธ์ร้อยกรองที่เป็นภาษาไทย และความงามด้านวรรณศิลป์ที่ปรากฏในงานประพันธ์นั้น ๆ ให้ออกมาเป็นภาษาไทยร้อยแล้วที่สละสลวยยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ผู้สอนยังมุ่งเน้นย้ำให้ผู้เรียนพยายามจดจำถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องของวรรณคดีจำเป็นต้องจดจำให้ขึ้นใจ

                การจัดการสอนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความสุนทรียภาพในการเรียนวรรณคดีไทยตรงกันข้ามกลับทำให้ผู้เรียนวรรณคดีไทยเบื่อหน่ายและเป็นผลสะท้อนให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติในทางลบต่อวิชาภาษาไทยไปในที่สุด

                ดังนั้น เพื่อให้การเรียนการสอนวรรณคดีไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้ยุคปฏิรูปการศึกษา  กล่าวคือ การเรียนรู้ต้องเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็นทำเป็นรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ถูกต้องในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย  จึงขอเสนอแนวทางในการสอนวรรณคดีไทยเพื่อเกิดความสอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์  ดังนี้ต่อไปนี้

                ๑. ผู้สอนวรรณคดี  พึงระลึกถึงลักษณะสำคัญของวรรณคดีเอาไว้เสมอว่า  วรรณคดีคือ ภาพสะท้อนสภาพสังคมแห่งยุคสมัย  นักกวีหรือผู้ประพันธ์จะสะท้อนแนวคิด ทัศนะของตนผ่านลงไปในเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ได้แต่งขึ้น  ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นและวิเคราะห์ภาพ ตลอดจนแนวคิดที่กวีหรือนักประพันธ์สะท้อนออกมาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด  การนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยมากล่าวถึงนั้น เป็นเพียงฉากหลังที่จะช่วยเสริมให้ภาพสะท้อนเด่นชัดขึ้นเท่านั้นแต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก

๒.     ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักใช้ความคิด ใคร่ครวญใช้สติปัญญาของตนในการแก้ปัญหาที่

เกิดขึ้น  การอ่านงานวรรณคดีจะทำให้มองเห็นแง่มุมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่หลากหลายต่างยุคต่างสมัย  พฤติกรรมของตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ที่จัดเป็นบทเรียนชีวิตจำลองที่ทักทายให้ผู้เรียนได้รู้จักขบคิด ติดตาม ผู้สอนควรหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเป็นแบบฝึกประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียนได้ทดลองใช้ทัศนะและแนวคิดของตนในการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ เพื่อพัฒนาความรู้และสติปัญญาของผู้เรียนเอง

                ๓. ควรเน้นให้ผู้เรียนมองเห็นความงดงามและศิลปะของการใช้ภาษาไทยในการรังสรรค์ ผลงานของกวีหรือนักประพันธ์  ซึ่งผู้เรียนควรจะได้เรียนเกี่ยวกับสุนทรียภาพ  กล่าวคือ ความซาบซึ้งในรสคำ  ความหมาย  ความไพเราะ  การเลือกสรรถ้อยคำอักษรที่ถูกบรรจงเรียบเรียงเพื่อก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน  นอกจากนี้ ผู้สอนควรใช้หลักภาษามาช่วยอธิบายถึงการเลือกสรรถ้อยคำและการใช้ประโยคของวรรณคดีนั้น ๆ ตลอดถึงให้ผู้เรียนมองเห็นความสามารถของกวีหรือนักประพันธ์ที่เลือกสรรภาษามาร้อยเรียงอย่างมีศิลปะและอลังการ

                ๔. ควรใช้เนื้อหา เหตุการณ์ของวรรณคดีที่กวีได้รังสรรค์เอาไว้มาเป็นแรงจูงใจสำคัญในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีนิสัยรักการอ่านและเป็นผู้ใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  กล่าวคือ  ผู้สอนจะต้องพยายามใช้งานวรรณคดีที่ผู้เรียนกำลังเรียนอยู่นั้นเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากจะติดตามเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง หรือเห็นความสำคัญของการค้นคว้าความรู้ด้านอื่น ๆ มาประกอบ  หรือขยายความให้งานวรรณคดีที่ผู้เรียนกำลังอ่านอยู่เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนหรือคนอื่น ๆ เพื่อเป็นการขยายโลกทัศน์ของตนให้กว้างขึ้น

                ดังนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่า “ครูวรรณคดี” ควรมองให้เห็นถึงคุณค่าของวรรณคดีในด้านภาษาอันเป็นมรดกของชาติ  ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ความตอนหนึ่งว่า...

                  “ภาษาไทยนับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ  ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือ เป็นทางสำหรับแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่าง  เช่น ในทางวรรณคดี  เป็นต้น  ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี  ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน  ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศ มีภาษาของตนเอง   แต่ว่าเขาก็ไม่แข็งแรง เขาพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง  เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”

(ที่มา: คณะครุศาสตร์ มจร)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕