หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,ดร. » ปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในพระพุทธศาสนา
 
เข้าชม : ๑๔๗๖๐ ครั้ง

''ปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในพระพุทธศาสนา''
 
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (2548)

ความนำ

แนวคิดเรื่อง อัตตา (อาตมัน) เป็นแนวความคิดกระแสหลักที่สำนักปรัชญาอินเดียโบราณเกือบทุกสำนักให้การยอมรับมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสำนักปรัชญาที่ยอมรับคัมภีร์พระเวท สาเหตุที่แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับเพราะสามารถตอบคำถามหรือแก้ข้อสงสัยต่าง ของมนุษย์ได้อย่างสอดคล้องและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องชีวิตหลังความตาย ปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ปัญหาเรื่องการทำกรรมและการรับผลกรรม หรือปัญหาเกี่ยวกับอุดมคติสูงสุดของชีวิต (โมกษะ / พรหมัน) เป็นต้น นักคิดอินเดียโบราณมีความเห็นร่วมกันอย่างหนึ่งว่าชีวิตร่างกายของเราเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่องและจะต้องละโลกนี้ไปในที่สุด แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องมีบางสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น บางสิ่งที่ว่านี้นักคิดแต่ละสำนักมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น “อัตตา”  “อาตมัน”  “ชีวาตมัน”  “สัตว์”  “บุคคล” หรือ “ชีวะ”  เป็นต้น คำเรียกเหล่านี้บ่งถึงแก่นแท้อันเป็นศูนย์กลางชีวิตที่อยู่เบื้องหลังการทำกรรมดีกรรมชั่วของบุคคล เป็นผู้ที่คอยรับผลกรรมดีกรรมชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นผู้ที่ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ แม้การที่จะเข้าถึงอุดมคติสูงสุดของชีวิต ก็เป็นหน้าที่ของสิ่งนี้เองที่จะต้องพัฒนาตนเองจนสามารถกำจัดอวิทยาได้หมดไปแล้วบรรลุถึงโมกษะในที่สุด ในทัศนะของนักคิดเหล่านี้ ระบบปรัชญาใดก็ตามที่เสนอแนวคิดทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว การเวียนว่ายตายเกิด หรือชีวิตในอุดมคติ เป็นต้น โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับความจริงทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับอัตตา ต้องถือว่าเป็นระบบจริยศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนความว่างเปล่าหรือไม่มีความจริงเป็นฐานรองรับนั่นเอง

พุทธปรัชญามีแนวคิดบางอย่างร่วมกันกับปรัชญาอินเดียสำนักอื่น เช่น แนวคิดเรื่องกรรม เรื่องความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เป็นต้น แต่แนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ทำให้พุทธปรัชญาแตกต่างจากปรัชญาอินเดียสำนักอื่น  คือ ไม่เชื่อว่ามีอัตตาหรือตัวตนอันเป็นแก่นแท้ที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของนามรูป อัตตาเป็นเพียงบัญญัติหรือ  มโนทัศน์ (Concept) ที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเท่านั้น นี้คือแนวคิดแปลกใหม่ที่เดินสวนกระแสแนวคิดแบบจารีตประเพณีอย่างสิ้นเชิง และขัดแย้งกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ทันทีที่แนวคิดนี้ถูกเสนอขึ้นมา ทั้งคำถามและข้อสงสัยต่าง ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เช่น กรรมกับอนัตตาขัดแย้งกันเองหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับเรื่องอัตตาจะตอบปัญหาเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีอัตตาเสียแล้วใครเป็นผู้กระทำกรรมและใครเป็นผู้รับผลแห่งกรรม หรือใครเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและใครเป็นผู้บรรลุธรรม หรือเป็นไปได้อย่างไรที่ยอมรับว่ามีกรรมแต่ปฏิเสธตัวผู้ทำกรรม เป็นต้น ข้อความในพระไตรปิฎกหลายแห่งที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกขัดแย้งในสามัญสำนึกของผู้ที่เข้ามาถามปัญหาพระพุทธเจ้าเช่น คำถามของภิกษุรูปหนึ่งที่ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร” [1] นี้อาจจะเป็นโจทย์ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวพุทธยุคหลังพุทธกาลพยายามหาทางตอบมาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เป็นไปได้หรือไม่ที่วรรณกรรมแนวอภิธรรมที่เสนอคำสอนแบบสุขุมลุ่มลึกในเชิงวิชาการจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวนี้

นอกจากนั้น ความพยายามที่จะตอบปัญหานี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดอันเป็นที่มาของการเกิดนิกายต่าง ในวงการคณะสงฆ์สมัยหลังพุทธกาล ดังจะเห็นได้ว่าในคัมภีร์กถาวัตถุท่านพระโมคคัลลีบุตรได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องอัตตาอนัตตาจนถึงขนาดต้องจัดหัวข้อเรื่อง “ปุคฺคลกถา” ไว้เป็นลำดับที่หนึ่ง ในกถานี้ได้กล่าวถึงคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งคือ ปุคคลวาท (สมิติยะ – วัชชีปุตตกะ) ว่าเป็นนิกายที่ยอมรับความมีอยู่บุคคล[2] (individuality) กลุ่มนิกายนี้ยอมรับว่าขันธ์   มีความเปลี่ยนแปลง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนนั้นมีนสิ่งที่เรียกว่า “บุคคล” เป็นฐานรองรับอยู่ บุคคลนี้ไม่ใช่ขันธ์ ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นอื่นจากขันธ์ และบุคคลนี้เองที่จะไปเกิดใหม่เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว[3] อีกนิกายหนึ่งได้แก่นิกายสัพพัตถิกวาท แม้จะมีแนวคิดร่วมกับคณะสงฆ์นิกายอื่น ที่ยอมรับว่าสิ่งทั้งปวงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้มีบางสิ่งคงอยู่ตลอดทั้งสามคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่คงอยู่นี้คือ ความเป็นรูป (รูปภาวะ) ความเป็นเวทนา (เวทนาภาวะ) ความเป็นสัญญา (สัญญาภาวะ) ความเป็นสังขาร (สังขารภาวะ) และ ความเป็นวิญญาณ (วิญญาณภาวะ) [4] ถามว่าทำไมคณะสงฆ์ปุคคลวาทจึงยอมรับแนวคิดบุคคล และทำไมนิกายสัพพัตถิกวาทจึงยอมรับความคงอยู่ตลอดกาลทั้งสามของสิ่งทั้งปวง เป็นไปได้หรือไม่ว่านิกายเหล่านี้ไม่พอใจรูปแบบการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตาเท่าที่มีอยู่ในยุคนั้น จึงได้เสนอทางออกด้วยการค้นหาอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตอบปัญหาเรื่องกรรมและผู้รับผลกรรมในโลกนี้และโลกหน้า

มิลินทปัญหาเป็นวรรณกรรมที่เกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๕๐๐ ปี เนื้อหาของวรรณกรรมชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตายังเป็นปัญหายอดนิยมที่สังคมยุคนั้นให้ความสำคัญในอันดับต้น ของปัญหาทั้งหลาย วรรณกรรมชิ้นนี้ได้ยกเอาปัญหานี้ขึ้นมาอยู่ในลำดับแรกเช่นเดียวกับคัมภีร์กถาวัตถุ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาเท่าที่ทำมาตลอด ๕๐๐ ปีนั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่สามรถแก้ข้อสงสัยของผู้คนในสังคมได้ทุกประเด็น พระเจ้ามิลินท์คือตัวแทนของคนยุคนั้นที่ยังมีข้อสงสัยในแนวคิดของพุทธปรัชญาหลาย เรื่อง พระ       นาคเสนคือตัวแทนของคณะสงฆ์ในสมัยหลังพุทธกาล ๕๐๐ ปี ที่พยายามสรรหาวิธีการต่าง มาตอบข้อสงสัยในพุทธปรัชญาของผู้คนในสังคม

ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนสนใจศึกษาวิเคราะห์มิลินทปัญหาโดยจะจำกัดขอบเขตการศึกษาเฉพาะกรณีปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาเท่านั้น เพื่อที่จะตอบคำถามว่า คำว่า อนัตตาในทัศนะของพระนาคเสนมีความหมายอย่างไร เมื่อพระนาคเสนเสนอแนวคิดเรื่องอนัตตาขึ้นมาแล้ว ท่านได้แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตาอย่างไร และพระเจ้ามิลินท์มีเหตุผลอะไรในการโต้แย้งแนวคิดเรื่องอนัตตาของพระพุทธศาสนา

 

. ปัญหาว่าด้วยบัญญัติ ความจริง กรรม และอนัตตา

          ปัญหาข้อแรกที่พระเจ้ามิลินท์ยกขึ้นมาถามพระนาคเสนคือปัญหาชื่อว่า “นามปัญหา” หรือหนังสือบางเล่มเรียกว่า “บัญญัติปัญหา”[5]  ถ้าดูจากชื่อของปัญหาข้อนี้ดูเหมือนจะไม่มีความลึกซึ้งอะไรมากนัก ผู้ถามเพียงต้อการทราบชื่อของผู้ถูกถามเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอ่านปัญหานี้อย่างละเอียด ดั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นได้ทันที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่และลึกซึ้งมาก เพราะมุ่งตรงไปที่หัวใจขอคำสอนที่ทำให้พระพุทธศาสนาถูกโต้แย้งมาตลอด นั่นคือคำสอนเรื่องอนัตตา นอกจานั้น คำถามนี้ยังโยงไปหาปัญหาทางจริยศาสตร์ด้วยคือ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตา

          ในนามปัญหานี้ พระนาคเสนใช้วิธีตอบปัญหา แบบ คือ () วิธีวิเคราะห์ (analytical) ได้แก่การวิเคราะห์แยกแยะสิ่งทั้งหลายออกเป็นส่วน เพื่อให้เห็นองค์ประกอบในระดับย่อยของมัน () วิธีสังเคราะห์ (synthetic) ได้แก่ การสังเคราะห์หรือการรวมองค์ประกอบย่อย   ที่แยกออกนั้นเข้าไว้ด้วยกัน () การอุปมาเปรียบเทียบ (analogy) ได้แก่ การนำเอาเรื่องนามธรรมยาก ไปอุปมาเปรียบเทียบกับรูปธรรมที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน วิธีวิเคราะห์แยกแยะจะทำให้เข้าใจปัญหาที่ว่าความจริงคืออะไร  วิธีสังเคราะห์จะทำให้เข้าใจปัญหาที่ว่าบัญญัติคืออะไร ส่วนวิธีอุปมาเปรียบเทียบถือว่าเป็นตัวเสริมที่ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องบัญญัติและความจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น

          . ปัญหาว่าด้วยบัญญัติกับความจริง (concept and reality)

          พระเจ้ามิลินท์เริ่มต้นด้วยการถามชื่อก่อนว่า “พระผู้เป็นเจ้าชื่ออะไร”[6]  การที่พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการถามชื่อก่อน ทรงให้เหตุผลว่าตามธรรมดาคนที่จะสนทนากันจะต้องรู้จักชื่อและโคตรของกันและกันเสียก่อนจึงจะสนทนาได้ ความจริงคำถามของพระเจ้ามิลินท์ตรงนี้ไม่น่าจะมาจากการอยากรู้จักชื่อของพระนาคเสนจริง อย่างที่พระองค์ให้เหตุผล เพราะก่อนที่จะมาสนทนากัน พระองค์ได้รับการกราบทูลให้ทราบข่าวเกี่ยวกับพระนาคเสนมาแล้วอย่างน้อย ครั้ง คือครั้งแรกอำมาตย์ได้กราบทูลให้ทรงทราบถึงคำล่ำลือเกี่ยวกับเกียรติคุณของพระนาคเสนว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากอย่างไร[7]   ครั้งที่ พระองค์ได้ทอดพระเนตรพระนาคเสนกับภิกษุบริวาร แปดหมื่นรูปกำลังนั่งประชุมกันในที่แห่งหนึ่ง แต่ยังไม่มีโอกาสสนทนากัน ดังนั้น การถามชื่อคู่สนทนาจึงน่าจะเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของการสนทนา และน่าจะเป็นคำถามนำร่องเพื่อปูทางไปสู่ประเด็นเรื่องอนัตตาที่พระองค์ต้องการจะโต้แย้ง

          พระนาคเสนตอบคำถามนี้ว่า “ขอถวายพระพร เพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่า นาคเสน ส่วนมารดาบิดาเรียกอาตมภาพว่า นาคเสนก็ดี วีรเสนก็ดี สุรเสนก็ดี สีหเสนก็ดี ก็แต่ว่าชื่อที่เพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่านาคเสนนี้ เพียงแต่เป็นบัญญัติขึ้น เพื่อให้เข้าใจกันได้เท่านั้น ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนผู้ใดจะอยู่ในชื่อนั้น”[8] ข้อความในคำตอบของพระนาคเสนตรงนี้มี ประเด็นคือ

๑) เรื่องบัญญัติ

๒) เรื่องความจริง

คำตอบที่บอกว่าตนเองชื่อนาคเสนเป็นข้อความประเภทบัญญัติ ส่วนคำตอบที่บอกว่า ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่ในชื่อนั้น[9]  เป็นข้อความประเภทความจริง คำตอบของพระนาคเสนเป็นคำตอบที่เกินเลยคำถาม ถ้าพระนาคเสนตอบเพียงว่าตนเองชื่ออะไร พระเจ้ามิลินท์คงไม่ได้ติดใจอะไร แต่แทนที่จะตอบเพียงว่าตนเองชื่ออะไร ท่านกลับก้าวลึกลงไปถึงปัญหาความจริงระดับอภิปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังบัญญัตินั้น มาถึงตรงนี้จุดสนใจของผู้ถามและผู้ตอบจึงมุ่งไปที่เรื่องความจริงที่อยู่เบื้องหลังบัญญัติว่าคืออะไร ดังได้กล่าวมาแล้วว่าว่าคำอธิบายของอินเดียโบราณได้ตอบคำถามนี้ชัดเจนว่าอาตมันหรือ     ชีวาตมันเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังบัญญัติ ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้ทั้งพระเจ้ามิลินท์ พระนาคเสนและคนในที่ประชุม ประมาณแปดหมื่นกว่าคนก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว เมื่อพระนาคเสนเสนอขึ้นมาว่าไม่มีอัตตาอยู่เบื้องหลังชื่อนั้น ถือว่าเป็นการเปิดประเด็นปัญหาที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป พระเจ้ามิลินท์ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาถึงกับตรัสเตือนชาวโยนก ๕๐๐ คนและพระภิกษุอีก ๘๐,๐๐๐ รูป ให้ตระหนักในคำตอบของพระนาคเสนว่า “ขอให้ชาวโยนกทั้ง ๕๐๐ นี้กับพระภิกษุ อีกแปดหมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้าเถิด พระนาคเสนนี้กล่าวว่าเพื่อนพรหมจรรย์เรียกอาตมภาพว่านาคเสน ก็แต่ว่าไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอันใดอยู่ในคำท่านนาคเสนนั้น” [10]

. อนัตตามีปัญหาอย่างไร

พระเจ้ามิลินท์แสดงเหตุผลโต้แย้งคำตอบของพระนาคเสนว่า “ถ้าสัตว์บุคคลตัวตนไม่มีแล้ว กุศลก็ต้องไม่มี อกุศลก็ต้องไม่มี ผู้ทำหรือผู้ให้ทำซึ่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ต้องไม่มี ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดฆ่าพระผู้เป็นเจ้า โทษปาณาติบาตก็ไม่มีแก่ผู้นั้น” [11] ข้อโต้แย้งของพระเจ้ามิลินท์ตรงนี้น่าจะมาจากเหตุผลหลัก ประการคือ

๑) คำตอบที่ว่า  “ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่ในชื่อ” จะสร้างปัญหาการอธิบายถึงความรับผิดชอบทางจริยธรรม เพราะถ้าเราไม่ยอมรับว่ามีบุคคล (อัตตา) ที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่เบื้องหลังชื่อบัญญัติแล้ว เราจะตอบปัญหาได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้ทำกรรมและใครเป็นผู้รับผลกรรมของตน

๒) คำตอบแบบนี้แสดงว่าพระพุทธศาสนามีแนวคิดแบบเดียวกับพวกอุจเฉททิฏฐิที่มองว่า ชีวิตขาดสูญเมื่อตาย เพราะถ้าเรายอมรับว่าไม่มีตัวตนอยู่เบื้องหลังบัญญัติ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อชีวิตสิ้นสุดลงจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เพื่อรอรับผลกรรมดีกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้

ถ้าเรานำข้อโต้แย้งของพระเจ้ามิลินท์ไปเทียบกับแนวคิดแบบอุจเฉททิฏฐิของเจ้าลิทธิชื่ออชิตะ เกสกัมพล จะเห็นความคลายคลึงกันมาก เจ้าลัทธิท่านนี้เชื่อว่า “ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี.... มนุษย์มีเตียงนอนเป็นที่ นำศพไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกขาวโพลนดุจนกพิราบ การเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแค่เถ้าถ่าน คนเขลาบัญญัติท่านนี้ไว้ คำที่คนบางพวกย้ำว่า มีผลนั้นว่างเปล่า เท็จ ไร้สาระ เมื่อสิ้นชีวิตไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญไม่เกิดอีก”[12]  จากความคล้ายคลึงกันนี้ จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าคำตอบของพระนาคเสนทำให้พระองค์ทรงนึกถึงแนวคิดแบบอุจเฉททิฏฐิของท่านอชิตะ   เกสกัมพล จึงทำให้พระองค์แสดงการโต้แย้งออกมาในลักษณะอย่างนี้ เพราะเราต้องไปลืมว่าก่อนที่จะได้มาสนทนากับพระนาคเสน พระองค์ได้เคยพบปะได้โต้วาทะกับท่านอชิตะ เกสกัมพลมาแล้ว[13] และความเชื่อเดิมที่พระองค์ยึดถืออยู่นั้นก็เป็นความเชื่อแบบสัสสตทิฏฐิ (อาตมวาท) ที่อยู่ตรงกันข้ามกับอุจเฉททิฏฐิ ดังนั้น พอพระองค์ได้ยินคำว่า “ไม่มีบุคคล” จึงไม่แปลอะไรที่จะทำให้พระองค์คิดว่าถ้าพระพุทธศาสนาไม่ยืนอยู่ฝ่าย “มี” (อัตถิกทิฏฐิ/สัสสตทิฏฐิ) ก็แสดงว่าต้องยืนอยู่ข้างฝ่าย “ไม่มี” (นัติถิกทิฏฐิ/อุจเฉททิฏฐิ) [14]

          ถ้าเหตุผลโต้แย้งของพระเจ้ามิลินท์มี ประการ ตามที่ผู้เขียนเสนอมานั้น ก็หมายความว่า พระนาคเสนมีปัญหาที่จะต้องตอบเพิ่มมาอีก ข้อ คือ จุดยืนแบบอนัตตาของพระพุทธศาสนาแตกต่างกันอย่างไรกับจุดยืนแบบขาดสูญของพวกอุจเฉททิฏฐิ  อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในการสนทนาครั้งนี้ พระนาคเสนจะไม่ได้เน้นที่จะตอบข้อโต้แย้งทั้ง ประเด็นนี้โดยตรง หากแต่มุ่งที่จะอธิบายให้เห็นว่าเบื้องหลังของบัญญัติว่า “นาคเสน” นั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอัตตาแฝงอยู่ ในส่วนของพระเจ้ามิลินท์ก็เช่นเดียวกัน ดูเหมือนพระองค์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าพระนาคเสนไม่ได้ตอบปัญหาของพระองค์ครบทุกประเด็น

 

. วิธีพิสูจน์ความมีอยู่อัตตา

หลังจากที่พระเจ้ามิลินท์ได้เสนอข้อโต้แย้งดังกล่าวแล้ว พระองค์ได้เสนอวิธีพิสูจน์ความมีอยู่ของอัตตาแบบง่าย ด้วยการถามพระนาคเสนว่า “เมื่อโยมถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่อย่างนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ยินเสียงถามอยู่หรือ” พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพได้ยินเสียงถามอยู่” พระเจ้า     มิลินท์ถามต่อไปว่า “ถ้าพระผู้เป็นเจ้าได้ยินเสียงถามอยู่ คำว่า นาคเสนก็มีอยู่ในชื่อนั้นนะสิ” [15] วิธีพิสูจน์แบบนี้ก็คือ เมื่อพระนาคเสนยืนยันว่าตนได้ยินเสียงถาม การได้ยินนี้แสดงถึงความมีอยู่ของสิ่ง สิ่ง คือ

 

๑) มีเสียงที่ถูกได้ยิน (object)

๒) มีผู้ได้ยิน (Subject)

 

ในกรณีที่มี . แต่ไม่มี . หรือ มี . แต่ไม่มี . จะสำเร็จการได้ยินไม่ได้ ดังนั้น ถ้าพระนาคเสนยืนยันว่าได้ยินเสียงถาม แสดงว่าคำว่า “นาคเสน”   ไม่ได้เป็นเพียงชื่อบัญญัติธรรมดา หากแต่เป็นคำที่บ่งถึง/ชี้ถึง (reference) ความมีอยู่ของอะไรบางอย่าง นั่นคือ “อัตตา” นักปรัชญาตะวันตกท่านหนึ่งชื่อค้านท์ (Emmanuel Kant) ได้เสนอวิธีพิสูจน์ความมีอยู่ของตัวตนคล้ายกับวิธีพิสูจน์ของพระเจ้ามิลินท์มาก ค้านท์พิสูจน์ด้วยการวิเคราะห์ความคิดว่า “ฉันคิด ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่” (I think, therefore I am) หมายความว่า เมื่อมีการคิดก็แสดงว่าจะต้องมีผู้ทำหน้าที่คิดและมีสิ่งที่ถูกคิด เป็นไปไม่ที่จะมีแต่การคิดโดยไม่มีผู้ทำหน้าที่คิด ดังนั้น คำว่า “ฉันคิด” จึงบ่งถึงความมีอยู่จริง ของตัวฉันในฐานะเป็นผู้ทำหน้าที่คิด[16]

อย่างไรก็ตาม ในวิธีพิสูจน์ของพระเจ้ามิลินท์ข้างต้นนั้น แม้พระนาคเสนจะยอมรับว่าท่านได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้ามิลินท์จริง แต่ก็ปฏิเสธว่าการมีผู้ได้ยินนั้นยังมีเหตุผลไม่เพียงพอต่อการที่จะพิสูจน์ว่ามีอัตตาอายู่เบื้องหลังการได้ยินนั้น พึงสังเกตว่าพระนาคเสนและพระเจ้ามิลินท์มีความเห็นตรงกันว่าการได้ยินต้องมีองค์ประกอบ ส่วนคือ . มีเสียงที่ถูกได้ยิน . มีผู้ได้ยินในที่นี้เสียงที่ถูกได้ยิน คือ เสียงของพระเจ้ามิลินท์ และผู้ได้ยินคือ ตัวพระนาคเสนเอง แต่จุดที่แตกต่างกันคือ คำว่า “มีผู้ได้ยิน” พระเจ้ามิลินท์มองว่า คำว่า “มีผู้ได้ยิน” เป็นข้อความที่บ่งบอกถึง (reference) ความมีอยู่ของอัตตาในฐานะเป็นผู้ได้ยิน ส่วนพระนาคเสนได้โต้แย้งว่า คำว่า “มีผู้ได้ยิน” ไม่ใช่ข้อความที่บ่งถึงความมีอยู่ของอัตตา

สิ่งที่เราควรใส่ใจเป็นพิเศษ คือการที่พระนาคเสนบอกว่า “ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่ในคำว่า นาคเสน” หมายความว่าอย่างไร หรือที่บอกว่า คำว่า “มีผู้ได้ยิน” ไม่ใช่ข้อความที่บ่งไปถึงความมีอยู่ของอัตตา หมายความว่าอย่างไร ผู้เขียนมองว่า แม้พระนาคเสนจะปฏิเสธว่าข้อความเหล่านี้ไม่ได้บ่งถึงความมีอยู่ของอัตตา ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อความเหล่านี้จะไม่บ่งถึงความมีอยู่ของอะไรบางอย่างเลย หรือการที่ท่านบอกว่า คำว่า “นาคเสน” เป็นเพียงชื่อบัญญัติสำหรับสื่อสารกันในสังคมมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่คำที่บ่งถึงความมีอยู่ของอัตตาที่อยู่เบื้องหลังชื่อนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าชื่อนาคเสนนี้จะไม่บ่งไปถึงความมีอยู่ของอะไรบางอย่าง แล้วความมีอยู่ของอะไรบางอย่างที่ว่านี้คืออะไร และมีอยู่ในลักษณะอย่างไร ปัญหานี้พระนาคเสนได้ตอบไว้ในตอนจบการสนทนา

เมื่อวิธีพิสูจน์อัตตาแบบแรกไม่ได้รับการยอมรับจากพระนาคเสน พระเจ้ามิลินท์จึงได้เปลี่ยนวิธีใหม่โดยยกเอาองค์ประกอบส่วนต่าง ของชีวิตหรือขันธ์ และสิ่งอื่น นอกเหนือจากขันธ์ ึ้นมาถามไล่เลียงไปทีละอย่าง เพื่อที่จะให้พระนาคเสนรับให้ได้อะไรกันแน่เป็นนาคเสน เช่น ถามว่า “ผมหรือเป็นนาคเสน?”  “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ เป็นนาคเสน?” เป็นต้น โดยสรุปสิ่งที่พระเจ้ามิลินท์ยกขึ้นมาถาม มีดังนี้[17]

องค์ประกอบของชีวิต

-ขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

-อวัยวะ ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ

-อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

โลกแห่งประสบการณ์

-อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

สิ่งอื่น นอกเหนือจากขันธ์

-สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่สังขาร ไม่ใช่วิญญาณ

              คำว่า  “เป็นนาคเสน” ที่พระเจ้ามิลินท์ถามนี้ ไม่ได้หมายถึงคำเรียกชื่อหรือบัญญัติธรรมดา หากแต่หมายถึงแก่นแท้ของความเป็นนาคเสนหรืออัตตานั่นเอง รูปร่างหน้าตาของเราตอนเป็นเด็ก หนุ่ม กลางคน และตอนแก่ อาจจะเปลี่ยนแปลงจนเราแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นคนคนเดียวกัน แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนี้ จะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เป็นแก่นแท้ซึ่งทำหน้าที่รักษาความเป็นคนเดิมของเราเอาไว้ไม่ให้กลายเป็นคนอื่น (Identity) นี้คือสิ่งที่พระเจ้ามิลินท์ทรงเรียกว่าความเป็น  นาคเสน อย่างไรก็ตาม ทุกคำถามที่พระเจ้ามิลินท์ยกขึ้นมาได้ถูกปฏิเสธจากพระนาคเสนว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่มีความเป็นนาคเสน พระองค์จึงกล่าวหาพระนาคเสนว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อข้าพเจ้าถามพระผู้เป็นเจ้าอยู่ ก็ไม่ได้ความอะไรเป็นนาคเสน เป็นอันว่าพระผู้เป็นเจ้าพูดเหละแหละ พูดมุสาวาท” [18] ถามว่าทำไมพระเจ้ามิลินท์จึงกล่าวหาพระนาคเสนว่า พูดจาเหลาะแหละและพูดมุสา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพระนาคเสนก็ไม่เคยบอกเลยว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งในชีวิตของท่านเป็นนาคเสน สาเหตุที่พระเจ้ามิลินท์ กล่าวหาเช่นนี้ น่าจะมาจากสาเหตุที่สนทนากันตอนต้น คือ ตอนถามเรื่องชื่อ และตอนถามเรื่องผู้ได้ยินเสียง และพระนาคเสนก็เคยบอกว่า ตนชื่อนาคเสน และเป็นผู้ได้ยินเสียงของพระองค์ ดังนั้น เมื่อพระองค์ยกเอาองค์ประกอบต่าง ทั้งในขันธ์ และนอกเหนือจากขันธ์ ขึ้นมาถามจนหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำยืนยันเลยว่า อะไรเป็นนาคเสน พระองค์จึงสรุปเอาว่า  พระนาคเสนพูดจาเหลาะแหละและพูดมุสา

          . การตอบปัญหาของพระนาคเสน

          พระนาคเสนได้พิสูจน์ว่าตนไม่ได้พูดจาเหลาะแหละและพูดมุสาอย่างที่พระเจ้ามิลินท์กล่าวหา โดยใช้วิธีถามไล่เลียงในรูปแบบเดียวกับที่ตนเคยถูกถาม โดยเริ่มต้นด้วยการถามว่า พระองค์เสด็จมาด้วยพาหนะอะไร พระเจ้ามิลินท์ยืนยันว่าพระองค์เสด็จมาด้วยรถ เมื่อพระเจ้ามิลินท์ยืนยันอย่างนี้ พระนาคเสนจึงยกเอาส่วนประกอบต่าง ของรถขึ้นมาถามไล่เลียงไปทีละอย่าง เช่น ถามว่า “งอนรถหรือเป็นรถ?”  “เพลารถหรือเป็นรถ?” “ล้อรถหรือเป็นรถ?” [19] เป็นต้น คำถามเหล่านี้ถูกปฏิเสธจากพระเจ้ามิลินท์ว่าไม่มีส่วนใดเลยที่เป็นรถ จากนั้น พระนาคเสนจึงกล่าวหาคืนบ้างว่าพระเจ้ามิลินท์เป็นพระราชาผู้ใหญ่ในชมพูทวีป แต่เหตุไฉนถึงได้พูดจาเหลาะแหละเช่นนี้ ตอนแรกยืนยันว่าเสด็จมาด้วยรถ แต่ตอนนี้กลับตรัสว่าไม่มีอะไรที่เป็นรถ เมื่อถูกกล่าวหาเช่นนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงถือโอกาสชี้แจงว่า “โยมไม่ได้พูดเหลาะแหละเหลวไหล การที่เรียกรถนี้เพราะอาศัยเครื่องประกอบรถทั้งปวงคือ งอนรถ เพลารถ ล้อรถ ไม้ค้ำรถ กงรถ เชือกขับรถ เหล็กปฏักตลอดถึงแอกรถมีอยู่พร้อม จึงเรียกว่ารถได้”[20] จากนั้นพระนาคเสนก็ชี้แจงบ้างว่า

                   ข้อที่อาตมภาพได้ชื่อว่านาคเสน ก็เพราะอาศัยเครื่องประกอบด้วยอวัยวะทุกอย่าง คือ อาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อันจำแนกอกไปเป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ข้อนี้ถูกตามถ้อยคำของนางวิชิราภิกษุณี ผู้เป็นอรหันต์ กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เรียกว่ารถ เพราะประกอบด้วยเครื่องรถทั้งปวง  ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ก็สมมติเรียกกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา  ฉันนั้น[21]

          ข้อความของพระนาคเสนตรงนี้ ถือว่าเป็นการสรุปจบสิ่งที่ได้สนทนากันมาทั้งหมดและถือว่าเป็นการแก้ขัดกล่าวหาและตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์พร้อมเสร็จในตัว สาระสำคัญในข้อความนี้คือ การโต้งแย้งแนวความคิดเรื่องอัตตาของพระเจ้ามิลินท์ โดยใช้วิธีแยกแยะขันธ์ ออกเป็นองค์ประกอบย่อย  เพื่อให้เห็นวาไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอัตตาอยู่ในขันธ์ นั้น พร้อมกันนั้นก็ได้ตอบปัญหาสำคัญอีก ข้อ คือ ปัญหาที่ว่าบัญญัติคืออะไร? และความจริงคืออะไร? บัญญัติคือชื่อที่สมมติกันขึ้นเพื่อเรียกหน่วยรวมที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์ประกอบย่อย เช่น นาคเสน รถ สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นต้น ส่วนความจริงคือ องค์ประกอบย่อยต่าง ที่มารวมตัวกันเป็นหน่วยชีวิต เช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อาการ ๓๒ เป็นต้น บัญญัติไม่ใช่ตัวความจริงและความจริงก็ไม่ได้มีอยู่ในบัญญัติ บัญญัติไม่สามารถสะท้อนความจริงออกมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้น เราจึงไม่สามารถค้นหาความจริงในบัญญัติได้ เช่น การศึกษาคัมภีร์ การใช้เหตุผล การอภิปรายถกเถียง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้บัญญัติจะไม่ใช่ความจริง แต่บัญญัติก็สามารถชี้ไปหาถึงความจริงได้เช่น นิ้วมือที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ เป็นต้น หรือแม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่สื่อออกมาในรูปของภาษาพูด และที่ถูกบันทึกเป็นภาษาเขียนในรูปของคัมภีร์ ก็ถือว่าเป็นบัญญัติที่ชี้ไปหาความจริงได้

. สรุปและประเมินการสนทนา

          ถ้าให้ประเมินการสนทนากันระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนเฉพาะในส่วนของ       นามปัญหานี้ ผู้เขียนมองว่า พระเจ้ามิลินท์ได้เสนอประเด็นปัญหาหลายเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เช่น ปัญหาเรื่องบัญญัติกับความจริงที่อยู่เบื้องหลังบัญญัติ ปัญหาเรื่องอนัตตากับการทำกรรมและการรับผลของกรรม ปัญหาเรื่องอนัตตาแตกต่างอย่างไรกับอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งการเสนอวิธีพิสูจน์ความมีอยู่อัตตา ในส่วนของพระนาคเสนก็เช่นเดียวกัน ดูเหมือนว่าการตอบปัญหาของท่านทั้งหมดจะมุ่งตอบเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องบัญญัติ (สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) กับความจริงที่อยู่เบื้องหลังบัญญัติ (อนัตตา/ขันธ์ ) แม้การอุปมาเปรียบเทียบบัญญัติกับคำว่า “รถ” และเปรียบเทียบความจริงกับส่วนประกอบต่าง ของรถ ก็เป็นส่วนของความพยายามที่จะอธิบายความหมายของบัญญัติและความจริงเท่านั้น ส่วนประเด็นปัญหาที่เกิดจากการเสนอคำอธิบายแบบนี้ เช่น เมื่อเสนอว่าไม่มีอัตตาแล้วจะอธิบายประเด็นเรื่องผู้ทำและผู้รับผลของกรรมอย่างไร ดูเหมือนว่าท่านพระนาคเสนจะยังไม่ได้ตอบปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม การที่พระนาคเสนไม่ได้ตอบปัญหาข้อนี้ไว้ในการสนทนาครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะท่านมองว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับกับการสนทนาครั้งนี้ก็เป็นได้จึงได้ยกยอดไปตอบในการสนทนาครั้งต่อ เช่น ในการสนทนาเรื่องสันตติ และเรื่องการถือปฏิสนธิของนามรูป เป็นต้น ท่านได้ใช้แนวคิดเรื่อง “ธรรมสันตติ” สำหรับตอบปัญหานี้ แนวคิดนี้มองว่า แม้ในขันธ์ หรือนามรูปของเราจะไม่มีอัตตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเป็นผู้ทำกรรมและผู้รับผิดชอบต่อผลกรรม นามรูปของเราที่อยู่ในรูปกระแสความสืบเนื่องแห่งเหตุปัจจัยนี้เองเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้รับผลกรรม เราในฐานะผู้ทำกรรมในวันนี้กับเราในฐานะผู้รับผลกรรมในวันข้างหน้า จะบอกว่าเป็นคนเดียวกันก็ไม่ใช่ จะบอกว่าเป็นคนอื่นก็ไม่ใช่ ดังการสนทนาต่อไปนี้

(บทสนทนาจากธรรมสันตติปัญหา)

          พระเจ้ามิลินท์   “ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้น หรือว่ากลายเป็นคนอื่น”

          พระนาคเสน      “ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น ( โส, อญฺโญ)[22]

          (บทสนทนาจากนามรูปปฏิสนธิคณหปัญหา)

          พระเจ้ามิลินท์      “นามรูปนี้หรือปฏิสนธิ”

          พระนาคเสน       “นามรูปนี้ไม่ได้ปฏิสนธิ แต่ว่าบุคคลทำกรรมดีหรือกรรมไม่ดีด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นก็ปฏิสนธิด้วยกรรมนั้น”

          พระเจ้ามิลินท์     “ถ้านามรูปนี้ไม่ปฏิสนธิ ผู้นั้นก็จัดพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายไม่ใช่หรือ”

          พระนาคเสน       “บุคคลทำกรรมดีหรือชั่ว อันใดไว้ด้วยนามรูปนี้ แล้วนามรูปอื่นก็ปฏิสนธิสืบต่อกันด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม”[23]

          บทสนทนานี้แสดงให้เห็นว่า พระนาคเสนได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับผู้ทำกรรมและผู้รับผลกรรมด้วยทฤษฎี  “ธรรมสันตติ” หรือทฤษฎีกระแสความสืบเนื่องแห่งเหตุปัจจัย เพื่อโต้แย้งแนวคิดเกี่ยวกับผู้ทำกรรมและผู้รับผลกรรมในรูปของอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรของพระเจ้ามิลินท์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

. ภาษาไทย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

--------------. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘.

--------------. มิลินฺทปญฺหปกรณํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐.

ปุ้ย แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานลูก .ธรรมภักดี, ๒๕๒๘.

สมภาร  พรมทา. คือความว่างเปล่า. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พุทธชาด, ๒๕๓๙.

 

. ภาษาอังกฤษ

Caygill, Howard.  A Kant Dictionary Cambridge: Blackwell Publishers Ltd., ๑๙๙๖.

Davids, Rhys T.W. The Question of King Milinda. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers, ๑๙๗๕.

Dutt, Nalinaksha. Buddhist Sects in India (Delhi: Montilal Banarasidass, ๑๙๘๙.

 

 

 



[1] .อุ. (ไทย)  ๑๔/๙๐/๑๐๒.

[2] อภิ.กถา. (บาลี) ๓๗/

[3] แนวคิดเรื่องบุคคลของชาวพุทธกลุ่มปุคคลวาทต่างจากแนวคิดของพราหมณ์ฮินดูตรงที่ปุคคลวาทถือว่าบุคคลมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เที่ยงแท้ถาวรเหมือนอาตมันของพราหมณ์ฮินดู บุคคลไม่ใช่อย่างเดียวกับขันธ์ และไม่ได้เป็นอื่นจากขันธ์ ดู Nalinaksha Dutt, Buddhist Sects in India (Delhi: Montilal Banarasidass, ๑๙๘๙) p. ๑๘๕.

[4] อภิ. กถา. (บาลี)  ๓๗/ ดูเพิ่มเติมใน สมภาร พรมทา, คือความว่างเปล่า (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พุทธชาด, ๒๕๓๙) หน้า ๓๙.

[5] มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มิลินฺทปญฺหปกรณํ (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐), หน้า ๒๕.

[6] ปุ้ย  แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา (กรุงเทพมหานคร : สำนักงานลูก . ธรรมภักดี , ๒๕๒๘), หน้า ๓๒.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๓.

             

[10] ปุ้ย  แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, หน้า ๓๓.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๓.

[12] ที.. (ไทย) /๑๗๐/๕๖-๕๗

[13] ปุ้ย  แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, หน้า ๑๐

[14] จุดยืนแบบเลือกข้างระหว่างฝ่ายที่มีกับไม่มี เป็นกับไม่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันทั้งในปรัชญาตะวันตกและตะวันออก เช่น หลักตรรกวิทยาแบบนิรมัชฌิมะ (Principle of Excluded Middle) ของตะวันตก หรือแนวคิดแบบอัตถิกทิฏฐิ กับนัตถิกทิฏฐิ ของชาวอินเดียสมัยโบราณ

[15] ปุ้ย แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, หน้า ๓๔.

[16] Howard  Caygill, A Kant Dictionary Cambridge : Blackwell Publishers Ltd., ๑๙๙๖, p. ๒๓๔-๒๓๕.

[17] ปุ้ย แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, หน้า ๓๔.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๕.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๕.

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๖.

[21] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๕-๓๗ . คำกล่าวของนางวิชิราภิกษุณี ดู สํ.. (ไทย) ๑๕/๑๗๑/๒๒๘.

[22] ปุ้ย แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา, หน้า ๕๙.

[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๐-๗๑.

(ที่มา: -)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕