หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที » แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
เข้าชม : ๗๕๔๔ ครั้ง

''แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย''
 
พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที และคณะ (2556)

 

แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
The Development of Internal Quality Assurance System
For Mahachulalongkornrajavidyalaya University

 

พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที: ป.ธ.๙, พธ..(ปรัชญา), พธ..(ปรัชญา)

รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์: กศ.บ.(สังคมศึกษา), ศศ..(ไทยคดีศึกษา)

ผศ.ดร.สุพรต บุญอ่อน: ศษ.บ.(ภาษาไทย),

กศ.ม.(การบริหารการศึกษา), Ph.D.(การบริหารการศึกษา)

บุญหนา จิมานัง: พธ..(การบริหารการศึกษา),

ศศ..(สังคมวิทยาการพัฒนา)

ไฉไลฤดี  ยุวนะศิริ: วท..(สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา),

สค..(สังคมวิทยา)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คณะผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหาร กรรมการผู้ตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในและเจ้าหน้าที่งานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๒๒๐ รูป/คน และ ผู้บริหารพร้อมทั้งบุคลากรงานประกันคุณภาพการศึกษา จากมหาวิทยาลัยที่มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ๕ แห่ง ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อประมวลผลจากการสัมภาษณ์ จากนั้นประชุมระดมความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารงานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนวทางพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทั้ง ๓ ด้าน คือ การควบคุมคุณภาพ  การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ

ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาของระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แยกเป็น ๓ ด้าน คือ (๑) ด้านการควบคุมคุณภาพ  ได้แก่ โครงสร้างการบริหารงานประกันคุณภาพการศึกษายังไม่มีการแยกให้เป็นงานหลักอย่างชัดเจน  บุคลากรส่วนมากไม่ให้ความสำคัญและมีทัศนคติเชิงลบต่องานประกันคุณภาพการศึกษา ขาดการมีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยไม่มียุทธศาสตร์ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการเฉพาะ การจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ ไม่ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบสนองงานประกันคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร เกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาไม่สะท้อนธรรมชาติของมหาวิทยาลัย  (๒) ด้านการตรวจสอบคุณภาพ ได้แก่ การขาดข้อมูลและหลักฐานในการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง  ขาดการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษา และไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ (Improvement Plan) รวมทั้งไม่มีการนำแผนพัฒนาคุณภาพมาเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติ (๓) ด้านการประเมินคุณภาพ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในวินิจฉัยตีความเกณฑ์การประเมินแตกต่างกัน และมักไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยกำหนด ส่งผลให้การรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แยกเป็น ๓ ด้าน คือ (๑) ด้านการควบคุมคุณภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยควรกำหนดตำแหน่งผู้บริหารที่รับผิดชอบงานด้านประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการเฉพาะ ควรกำหนดภาระงานบุคลากรด้านการประกันคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน เน้นการพัฒนาศักยภาพและสร้างทัศนคติที่ดีต่องานประกันคุณภาพการศึกษา ส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับใช้ PDCA ในการปฏิบัติงาน ควรนำงานประกันคุณภาพการศึกษาบรรจุเป็นกลยุทธ์หนึ่งในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่ความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณด้านการบริหารงานประกันคุณภาพการศึกษา ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และสามารถเชื่อมโยงกับงานประกันคุณภาพการศึกษา ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์คุณภาพระบบอื่นที่ครอบคลุมเกณฑ์ สกอ. สมศ. และสะท้อนธรรมชาติของมหาวิทยาลัยมาพัฒนาเป็นระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย (๒) ด้านการตรวจสอบคุณภาพ ได้แก่ มหาวิทยาลัยควรสร้างระบบการจัดทำรายงานการประเมินตนเองแบบมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับบุคคลขึ้นมาตามลำดับ ควรจัดทำขั้นตอนและออกมาตรการในการปฏิบัติงาน ควรประเมินความดีความชอบให้สัมพันธ์กับการประกันคุณภาพการศึกษา  ควรจัดระบบการตรวจไขว้ระหว่างส่วนงานและกำหนดให้ส่วนงานจัดทำรายงานประจำปีในรูปแบบของการประกันคุณภาพการศึกษา  ควรใช้กลไกการประชุมสภาวิชาการเพื่อพิจารณาและติดตามความก้าวหน้าของการนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาคุณภาพของทุกส่วนงาน รวมทั้งขับเคลื่อนให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการประจำปีของมหาวิทยาลัย (๓) ด้านการประเมินคุณภาพ ได้แก่ ควรประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาข้อยุติรายตัวบ่งชี้ และสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวบ่งชี้ รวมทั้งอบรมกลุ่มเลขานุการเพื่อสร้างคุณภาพการจัดทำรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน และควรกำหนดให้กรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในแต่ละชุดประชุมร่วมกันเพื่อกลั่นกรองผลการประเมินก่อนการรายงานผล

 

Abstract

 

This research aimed at studying problems and guidelines for the development              of an internal quality assurance system in Mahachulalongkornrajavidyalaya University.  The authors used the qualitative research method and all data were collected by using           in-depth interviews from university administrators, internal quality audit committees and officers assigned to be responsible for the educational quality assurance of Mahachulalongkornrajavidyalaya University.  The other data were gained from five university administrators and quality assurance staffs with the best practice for the quality assurance.

The methods employed for data collection were content analysis, in-depth interviews, and brain storming from university administrators and executives of quality assurance of Mahachulalongkornrajavidyalaya University in order to analyze and approach three aspects in the development of internal quality assurance as 1) quality control 2) quality audit 3) quality assurance.

The results indicated that the problems of the internal quality assurance system in this university can be divided into three aspects: 1) the quality control with respect to the administration structure of educational quality assurance was not independently separate and most staff did not pay attention, lacked participation, and also had negative attitudes toward the internal quality assurance in education.  The university has no strategy for the internal quality assurance specifically. The data collecting system of the university was not in order.  The information technology system was not developed for the education quality assurance as it should be. The standard criteria and internal quality assessment did not reflect the nature of university.  2) Quality control with respect to the lack of data and evidence for conducting self-assessment reports and lack of operation monitoring according to the indicators of quality assurance. The university administrators did not focus on the improvement plan and never brought it to associate with the university’s development plan and annual action plan. 3) On the quality assessment it was found that the internal quality assurance committees have a diagnostic of different interpretations and did not follow the guidelines of the university.  As a result, the reports of internal quality assurance did not use the same standard.  

The guidelines for the development of internal quality assurance system for Mahachulalongkornrajavidyalaya University can be divided into three parts: 1) the quality control, that is to say, the university administrators should specially appoint a person responsible for the internal quality assurance and their job description must also be understandable and focus on the development potential and a positive attitude toward quality assurance. The university’s officers should promote on the PDCA methodology (Plan, Do, Check, and Action) in their tasks. The quality assurance should be contained in the strategic development plan of this university and this will lead to the clarity in the allocation of budget management on the Quality Assurance.  The university’s database should be developed and used to full advantage for this task.  The work of other reputable universities should be studied regarding the Quality Assurance that covers the criteria of National Education Standard and Quality Assessment and/or the Higher Education Commission.  2) Regarding to the Quality Control, the system of Self-Assessment Report should be created in all levels.  An operations manual for the university’s officers should be made and their performances evaluated in accordance with the criteria of the Quality Assurance. Cross checks between departments and the annual report should be created in the form of Quality Assurance.  The Academic Council Committees should follow the result the Quality Assurance to create the plan to improve the quality in all departments in line with the university development plan.  3) On the Assessment Control, an Quality Assurance action seminar should be held regularly in order to find out the true indicators and create the expertise to audit.  The Quality Assurance staffs should be trained, and the Internal Quality Assurance committees should be convened to scrutinize the results before reporting them.

 

บทนำ

            ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ระบบประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไทยได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) ..๒๕๔๕ ในหมวดที่ ๖ ว่าด้วยการประกันคุณภาพการศึกษา ระบุไว้ว่าให้ หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง               ในปัจจุบันระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นแนวทางปฏิบัติงาน ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมและการเรียนการสอน เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลักการในระดับชาติไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการอุดมศึกษา เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ ในขณะเดียวกันกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต้องเป็นไปตาม ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้

การทำประกันคุณภาพในมหาวิทยาลัยยังถือได้ว่าเป็นการปรับนโยบายของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับหลักการของชาติโดยอัตโนมัติ พิจารณาได้จากรายละเอียดปลีกย่อยของการประกันคุณภาพการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งจะแบ่งออกเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ๙ องค์ประกอบว่าด้วยสิ่งที่พึงมีในการจัดการศึกษา ทั้งยังกำหนดตัวบ่งชี้การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ภายใต้หลักการที่ครอบคลุมองค์ประกอบคุณภาพตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓   ตัวบ่งชี้เหล่านี้สามารถประเมินได้ครบทุกมิติของระบบ สร้างสมดุลของมุมมองการบริหารจัดการทุกด้านและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อความมีประสิทธิภาพและคุณภาพในการปฏิบัติงาน สร้างบัณฑิตให้เกิดการเรียนรู้และมีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยจะมีการประเมินคุณภาพจากคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพเป็นการรองรับอีกด้วย         

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยภายใต้สถานะของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้จัดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีพัฒนาการที่อิงกับเกณฑ์มาตรฐานของต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเชื่อมโยงกับมาตรฐานต่าง ๆ ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งคณะสงฆ์ไทย เพื่อพร้อมรับต่อการประเมินคุณภาพภายนอก มีการดำเนินการด้านการประกันคุณภาพการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๑๒ ปี ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่โครงสร้างการบริหารมีการขยายส่วนงานใต้สังกัดในฐานะ คณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียนและหน่วยวิทยบริการ ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนส่วนงานเหล่านี้ถึง ๕๐ แห่ง ได้แก่ คณะ ๕ คณะ วิทยาเขต ๑๐ แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ ๗ แห่ง ห้องเรียน และหน่วยวิทยบริการ ๒๘ แห่ง การมีส่วนงานใต้สังกัดจำนวนมากและกระจายอยู่ในลักษณะดังกล่าว  เป็นประเด็นที่ต้องตอบคำถามในเรื่องการควบคุมคุณภาพ การรักษามาตรฐานของการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการประกันคุณภาพการศึกษาจะถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการบริหารคุณภาพ แต่ยังพบว่าระบบการประกันคุณภาพยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้มีการบริหารเชิงคุณภาพได้ทั่วทั้งองค์กรของมหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จะทำให้ทราบถึงปัญหาของระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อนำไปสู่การศึกษาแนวทางในการพัฒนาระบบ เพื่อเป็นข้อมูลสารสนเทศให้กับผู้บริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ควบคุม ส่งเสริม พร้อมทั้งปรับปรุงการดำเนินงาน ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นเครื่องมือในการบริหารมหาวิทยาลัยเชิงคุณภาพในอนาคต

            วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

๑. เพื่อศึกษาปัญหาของระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๒. เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

 

 

 

วิธีการวิจัย

            การกำหนดกลุ่มประชากร

กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา ผู้ประเมิน และเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพการศึกษาของส่วนงานระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๒๒ ส่วนงาน ส่วนงานละ ๑๐ รูป/คน รวมทั้งสิ้น ๒๒๐ รูป/คน

ผู้บริหารและบุคลากรด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านการประกันคุณภาพการศึกษา จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแห่งละ ๕ คน รวมทั้งสิ้น ๒๕ คน

ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๑๕ รูป/คน

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย มีรายละเอียดดังนี้

๑. การใช้เทคนิค SWOT กับกลุ่มคณะทำงานและผู้บริหารงานประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ระบบประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศึกษาจุดอ่อน จุดแข็ง ของระบบประกันคุณภาพการศึกษา นำไปสร้างแนวคำถามเพื่อศึกษาปัญหาระบบประกันคุณภาพการศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๒. การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับกลุ่มผู้บริหาร กรรมการตรวจประเมิน และเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพการศึกษาของส่วนงานจัดการศึกษาระดับคณะ วิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์ จำนวน ๒๒ แห่ง เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาที่พึงประสงค์ของระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย

๓. การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้บริหารและบุคลากรด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ที่ได้รับการจัดอันดับจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อนำมาเทียบเคียงหาแนวทางพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย

๔. การประชุมระดมความคิดเห็น กับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารงานประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย เพื่อ วิเคราะห์แนวทางพัฒนาระบบประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย

 

ผลการวิจัย

๑. ด้านการควบคุมคุณภาพ  

๑) โครงสร้างการบริหารงานประกันคุณภาพการศึกษา   

ปัญหาที่พบ คือ (๑) งานประกันคุณภาพการศึกษาไม่อยู่ในโครงสร้างการบริหารงานของส่วนงาน (๒) ไม่มีบุคลากรในตำแหน่งที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษาโดยตรง        (๓) เจ้าหน้าที่ที่ทำงานประกันคุณภาพการศึกษามีการเปลี่ยนงานบ่อยงานไม่ต่อเนื่อง (๔) เจ้าหน้าที่ผู้ทำงานประกันคุณภาพการศึกษาไม่มีอำนาจทำให้การติดตามข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ  

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ด้านโครงสร้างการบริหารงานประกันคุณภาพการศึกษา แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ (๑) ระดับสถาบัน (๒) ระดับคณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์

ในระดับสถาบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยควรมีผู้บริหารที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพโดยเฉพาะ ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา ให้มีส่วนงาน บุคลากร ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) (IT) ช่วยในการทำงาน ในอนาคต ควรยกระดับงานประกันคุณภาพการศึกษาขึ้นเป็นส่วนงานระดับสำนัก

ในระดับคณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ รวมทั้งในส่วนงานสนับสนุนที่เทียบเท่าคณะ ควรมอบหมายผู้บริหารท่านใดท่านหนึ่ง กำกับดูแลงานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษร และให้กำหนดภาระงานประกันคุณภาพให้ชัดเจนและมอบหมายเป็นงานหลักให้เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ในส่วนงานนั้น ๆ ทำงานประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีการอบรมเพิ่มเติมและให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

๒) บุคลากร

ปัญหาที่พบ คือ (๑) ผู้บริหารส่วนมากไม่ให้ความสำคัญต่องานประกันคุณภาพการศึกษา (๒) อาจารย์ขาดการมีส่วนร่วม ไม่รับรู้ ไม่ตระหนัก ไม่สนใจและไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล (๓) เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ให้ความสำคัญกับงานประกันคุณภาพการศึกษา

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านบุคลากร แบ่งเป็นบุคลากร ๒ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ เป็นบุคลากรที่ทำงานด้านการประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยควรมีการกำหนดภาระงานให้ชัดเจน โดยเน้นการใช้บุคลากรที่มีอยู่และให้มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ การเพิ่มบุคลากรด้านงานประกันคุณภาพอาจเกลี่ยบุคลากรภายในส่วนงานกองวิชาการให้เหมาะสมโดยการวิเคราะห์ภาระงานอย่างเป็นระบบ

กลุ่มที่ ๒ เป็นบุคลากรทั่วไป มหาวิทยาลัยควรสร้างความตระหนัก และสร้างทัศนคติที่ดีต่องานประกันคุณภาพการศึกษา แก่บุคลากรทุกระดับ ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการอบรม สัมมนาเพิ่มเติมความรู้เป็นประจำ

๓) แผนยุทธศาสตร์   

ปัญหาที่พบ คือ ส่วนงานไม่มีแผนยุทธศาสตร์ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการเฉพาะ แต่พบว่า บางส่วนงานมีการดำเนินการด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายใต้แผนปฏิบัติการประจำ และปฏิทินการปฏิบัติงานประจำปี

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านแผนยุทธศาสตร์  มหาวิทยาลัยและส่วนงานจัดการศึกษา ควรกำหนดงานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกลยุทธ์หนึ่งโดยเฉพาะ บรรจุในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะที่ ๑๑ และแผนพัฒนาส่วนงานจัดการศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาและขยายขอบข่ายของงานประกันคุณภาพการศึกษาให้มีความชัดเจนด้านงบประมาณและบุคลากรได้ในอนาคต

๔) งบประมาณงานประกันคุณภาพการศึกษา

ปัญหาที่พบ คือ ส่วนงานไม่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาโดยตรง  ปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายจริงต่อปีประมาณ ๓๐,๐๐๐ ๕๐,๐๐๐ บาท ใช้งบสำรองจ่ายจากเงินรายได้ของส่วนงาน

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านงบประมาณ  ควรนำงานประกันคุณภาพการศึกษาบรรจุเป็นกลยุทธ์หนึ่งในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่ความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณด้านการบริหารงานประกันคุณภาพ  แต่งานที่สนับสนุนส่งเสริมงานประกันคุณภาพ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูล  ก็สามารถนำมาบูรณาการในกลยุทธ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณในส่วนของการประกันคุณภาพการศึกษาโดยตรง

๕) ระบบฐานข้อมูล

ปัญหาที่พบ คือ การจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ เก็บข้อมูลไม่ตรงกับเกณฑ์ประเมิน  ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านฐานข้อมูล มหาวิทยาลัยควรนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มาใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย และลดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรด้านอื่น เช่น ทรัพยากรบุคคล และวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ฐานข้อมูลที่มหาวิทยาลัยพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์และเชื่อมโยงกับงานประกันคุณภาพการศึกษา ควรมีการประชุมร่วมกับส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการประกันคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม และนำบรรจุในแผนพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ในส่วนของโปรแกรมการประเมิน online และการจัดทำ e-SAR ควรพัฒนาให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถใช้ได้

๖) เกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์การประเมิน

ปัญหาที่พบ คือ การทำงานและการบริหารยังไม่ตรงกับเกณฑ์ที่มีการประเมิน การตีความตัวบ่งชี้แต่ละเกณฑ์การประเมินของบุคลากรก็ไม่ตรงกัน เกณฑ์ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของส่วนงาน

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านเกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์การประเมิน  มหาวิทยาลัยควรศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาตัวบ่งชี้ที่สามารถสะท้อนพันธกิจและหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ควรหาแนวทางขอปรับตัวบ่งชี้ สกอ. และ สมศ. แต่ไม่ควรเพิ่มตัวบ่งชี้ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์คุณภาพระบบอื่น เช่น เกณฑ์คุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence หรือ EdPEx) เข้ามาใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กรอย่างแท้จริง

๒. ด้านการตรวจสอบคุณภาพ

๑) การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ของส่วนงาน

ปัญหาที่พบ คือ ส่วนงานไม่สามารถส่งเอกสารได้ตามวันที่กำหนด เนื้อหายังไม่สมบูรณ์ หลักฐานไม่ครบถ้วน ไม่มีการกลั่นกรองงาน

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านการจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ของส่วนงาน มหาวิทยาลัยควรสร้างความมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร เนื่องจากการจัดทำรายงานการประเมินตนเองต้องใช้ข้อมูลตั้งแต่ระดับบุคคลมาถึงระดับส่วนงาน การสร้างระบบของการมีส่วนร่วม อาจจัดทำเป็นประกาศ แนวปฏิบัติ กำหนดมาตรการตามความเหมาะสม หรือออกแบบการประเมินความดีความชอบให้สัมพันธ์กับงานประกันคุณภาพการศึกษา ส่วนงานประกันคุณภาพควรจัดทำแผนผังขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Flow Chart) การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง โดยทำรายการงานให้ส่วนงานตรวจสอบรายการ (Checklist) แจ้งให้ส่วนงานดำเนินการ มีคนติดตามเก็บงาน และนำลงฐานข้อมูล หรือ ออกแบบฟอร์มให้ส่วนงานกรอกข้อมูลผ่านระบบ online

๒) การดำเนินงานตรวจสอบคุณภาพของส่วนงาน

ปัญหาที่พบ คือ  ไม่มีการตรวจสอบผลการดำเนินงานเป็นระยะ เมื่อทำรายงานการประเมินตนเอง (SAR) เสร็จแล้ว ส่วนงานไม่จัดให้มีการตรวจสอบผลการดำเนินงาน พร้อมเอกสารหลักฐานก่อนการตรวจประเมินจริง 

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านการดำเนินงานตรวจสอบคุณภาพของส่วนงาน มหาวิทยาลัยควรให้มีการไขว้ตรวจระหว่างภาควิชา หรือระหว่างคณะ หรือระหว่างวิทยาเขตหรือวิทยาลัยสงฆ์ โดยเป็นการตรวจสอบรายการ หรือ Checklist โดยไม่เน้นการตรวจหลักฐาน การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานดำเนินการทั้งระดับบุคคลและระดับส่วนงาน โดยระดับบุคคล ให้บุคลากรเขียนภาระงาน มีการประเมินความดีความชอบตามภาระงาน โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและสอดคล้องกับการประกันคุณภาพ ในระดับส่วนงาน ให้ส่วนงานจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประจำปีตามรูปแบบของการประกันคุณภาพ

๓) การนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาไปพัฒนาการดำเนินงาน

ปัญหาที่พบ คือ บางส่วนงานไม่ได้นำผลการประเมินไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาคุณภาพ และส่วนงานที่ทำแผนพัฒนาคุณภาพแล้วก็ไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง      

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านการนำผลการประเมินคุณภาพการศึกษาไปพัฒนาการดำเนินงาน ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยควรทำแผนพัฒนาคุณภาพตามผลการประเมิน ผ่านสภาวิชาการ สภามหาวิทยาลัยและนำไปบรรจุในแผนกลยุทธ์หรือแผนปฏิบัติการประจำปี และนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนงานที่มีผลการประเมินไม่ผ่าน เมื่อทำแผนพัฒนาคุณภาพและนำไปจัดทำเป็นโครงการแล้ว ให้รายงานความก้าวหน้าต่อสภาวิชาการ ให้เป็นการควบคุมโดยสภาวิชาการ  ส่วนงานประกันคุณภาพควรถอดบทเรียนตัวบ่งชี้ของส่วนงานที่ดำเนินงานได้ดี ทำเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและนำไปต่อยอด ขยายผลสู่ส่วนงานอื่น ส่วนในรายงานผลการประเมิน หากผู้ประเมินให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ก็จะทำให้ส่วนงานสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

๓. ด้านการประเมินคุณภาพ

๑) กรรมการตรวจประเมิน

ปัญหาที่พบ คือ ส่วนมากประธานกรรมการตรวจมีการวินิจฉัยตีความเกณฑ์ประเมินแตกต่างจากกรรมการประเมินภายในมหาวิทยาลัย มีบางเกณฑ์ กรรมการประเมินตีความไม่ตรงกัน กรรมการไม่มีความรู้เข้าใจในเกณฑ์ประเมินอย่างถูกต้อง กรรมการตรวจไม่ละเอียด เลขานุการของกรรมการตรวจประเมินมีงานมากเกินไป

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านกรรมการตรวจประเมิน มหาวิทยาลัยควรจัดอบรมสัมมนากรรมการตรวจประเมินบ่อย ๆ และต่อเนื่อง การอบรมควรเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีการลงมือปฏิบัติตรวจประเมินจริง กรรมการตรวจประเมินควรมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติรายตัวบ่งชี้ ควรให้กรรมการตรวจประเมินสมัครตรวจในองค์ประกอบและตัวบ่งชี้ที่ตนเองถนัดและจัดอบรมเข้มข้นในองค์ประกอบและตัวบ่งชี้นั้น ๆ

๒) จำนวนวันและจำนวนของกรรมการตรวจประเมิน

ปัญหาที่พบ คือ ไม่มีปัญหาในการดำเนินการ โดยใช้เวลาตรวจจำนวน ๓ วัน และใช้กรรมการ ๔ ท่าน

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านจำนวนวันตรวจประเมิน ควรให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการอำนวยการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยระดับภาควิชาใช้เวลาตรวจประเมิน ๒ วัน ระดับคณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ใช้เวลาตรวจประเมิน ๓ วัน

๓) การรายงานผลการตรวจประเมิน

ปัญหาที่พบ คือ การเขียนรายงานผลของคณะกรรมการไม่เป็นไปตามแบบฟอร์มที่กำหนด การส่งรายงานผลล่าช้า เขียนจุดอ่อน จุดแข็งและข้อควรปรับปรุงไม่สอดคล้องกับผลการประเมิน รายงานผลผิดพลาดไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการ

แนวทางในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาด้านการรายงานผลการตรวจประเมิน กรรมการตรวจประเมินควรจัดประชุมแบ่งงานและประชุมก่อนการรายงานผลการตรวจประเมินด้วยวาจา เพื่อให้การรายงานผลด้วยวาจามีความสอดคล้องกัน 

การจัดทำเอกสารรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยควรอบรมกลุ่มเลขานุการคณะกรรมการเป็นพิเศษ มีตัวอย่างการเขียนรายงานที่ดีให้ศึกษา และควรเลือกกลุ่มเลขานุการที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) (IT) 

 

ข้อเสนอแนะ

๑. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

๑) มหาวิทยาลัยควรกำหนดโครงสร้างการบริหารงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดให้งานประกันคุณภาพการศึกษาเป็นงานหลักที่สำคัญที่ต้องมีการดำเนินการ กำกับติดตาม ตรวจสอบและดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

๒) มหาวิทยาลัยควรกำหนดภาระงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน ควรเพิ่มบุคลากรด้านงานประกันคุณภาพโดยการวิเคราะห์ภาระงานอย่างเป็นระบบ และสร้างความตระหนัก สร้างทัศนคติที่ดีต่องานประกันคุณภาพการศึกษา แก่บุคลากรทุกระดับ

๓) มหาวิทยาลัยควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษา โดยนำบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เป็นแผนระยะยาว เพื่อดำเนินการให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

๔) มหาวิทยาลัยควรพัฒนาเกณฑ์การประเมินที่สะท้อนธรรมชาติของมหาวิทยาลัย โดยพิจารณานำเกณฑ์ เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence หรือ EdPEx) มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรในอนาคต เพื่อให้เกิดการบริหารองค์กรในเชิงระบบ มองทุกระบบเชื่อมโยงกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน จากจุดเน้นที่เป็นเรื่องหลักของมหาวิทยาลัย

๕) มหาวิทยาลัยควรพัฒนาคุณภาพบุคลากรทุกระดับ ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการวิชาชีพ โดยให้นำวงจรคุณภาพ PDCA มาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างบรรยากาศคุณภาพในมหาวิทยาลัย และจัดระบบการประเมินความดีความชอบให้สัมพันธ์กับการประเมินคุณภาพการศึกษา

๖) มหาวิทยาลัยควรกำหนดให้ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพตามผลการประเมิน เสนอสภาวิชาการและสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและนำไปบรรจุในแผนกลยุทธ์หรือแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ  โดยให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนต่อสภาวิชาการเป็นระยะ

๒. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ

๑) ควรจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจและนำกระบวนการ PDCA ไปใช้ในการปฏิบัติงาน

๒) ควรจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์เพื่อให้บุคลากรตระหนักถึงความสำคัญของการนำการประกันคุณภาพไปใช้ในการปฏิบัติงานและสร้างทัศนคติที่ดีต่องานประกันคุณภาพ

๓) ควรฝึกอบรมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเชื่อมโยงกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษาแก่บุคลากรผู้เกี่ยวข้อง

๔) ควรแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence หรือ EdPEx) มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรในอนาคต

๕) คณะ วิทยาเขต และวิทยาลัยสงฆ์ควรจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพตามผลการประเมิน เสนอสภาวิชาการและสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและนำไปบรรจุในแผนกลยุทธ์หรือแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 

๓. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย

๑) ควรทำงานวิจัยเพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีด้านการประกันคุณภาพการศึกษา โดยการถอดบทเรียนตัวบ่งชี้ของส่วนงานที่ดำเนินงานได้ดี ทำเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและนำไปต่อยอดขยายผลสู่ส่วนงานอื่น เนื่องจากส่วนงานจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย มีการบริหารจัดการและวัฒนธรรมองค์กรที่คล้ายคลึงกัน

๒) ควรวิจัยเพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาตัวบ่งชี้ที่สามารถสะท้อนพันธกิจและหลักสูตรของมหาวิทยาลัย และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence หรือ EdPEx) เข้ามาใช้ในการบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร

 

เอกสารอ้างอิง

 

วิเชียร พันธ์เครือบุตร.  “การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน”.  วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต, สาขาวิชาการบริหารการศึกษา: มหาวิทยาลัยบูรพา, ๒๕๔๘.

ศิริขวัญ  ยิ่งเจริญ.  สภาพและปัญหาในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์.  วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิจัยและประเมินทางการศึกษา: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๕๓.

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.  คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓.  พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, ๒๕๕๔.

อมรพรรณ  ประจันตวนิชย์.  “ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานและปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษาของบุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”.  ปริญญานิพนธ์, หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยและสถิติทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๕๐.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕