หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » รุ่งทิพย์ กล้าหาญ » กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยหลักพุทธธรรมในหมู่บ้านป่าไผ่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
 
เข้าชม : ๒๕๒๗๘ ครั้ง

''กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยหลักพุทธธรรมในหมู่บ้านป่าไผ่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่''
 
รุ่งทิพย์ กล้าหาญ และคณะ (2556)

 

กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยหลักพุทธธรรม

ในหมู่บ้านป่าไผ่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

The Process of Protection and Solution of Narcotics Problem with the Principle of Buddhadhamma in Pa Phai Village, Mae Pong,

Doi Saket District, Chiang Mai

 

รุ่งทิพย์ กล้าหาญ

ศษ., ศษ..(การศึกษานอกระบบ)

นายบรรชร กล้าหาญ

ทษ..(เทคโนโลยี),

ศษ.., ศษ..(การศึกษานอกระบบ)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน ผลการดำเนินงาน และปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการป้องและแก้ไขปัญหายาเสพติดชุมชน ตลอดจนหลักหลักธรรมที่ชุมชนใช้ในกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ศึกษาวิจัยในหมู่บ้านป่าไผ่ ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล จากการใช้สัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การจัดเวทีเรียนรู้ รวมทั้งการสังเกตแบบมีส่วนรวม มีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า และนำเสนอในรูปแบบการพรรณนา

ผลการวิจัย พบว่า บ้านป่าไผ่เคยประสบปัญหาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด แต่ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดการชุมชน ทำให้สามารถเรียนรู้ และปรับตัวอย่างเท่าทันในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลวิธีที่หลากหลาย ประสานกลไก           ทั้งภายในและนอกชุมชน การใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในการดำเนินให้สอดคล้องกลมกลืนกับ              วิถีชุมชน จนเป็นชุมชนต้นแบบของการขจัดปัญหายาเสพติด 

กระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน ประกอบด้วย กระบวนการค้นหาปัญหา การให้คืนข้อมูลแก่ชุมชน การวางแผนดำเนินงาน กระบวนการดําเนินงาน           การประสานภาคีภาคส่วน และกระบวนการติดตามผลการดําเนินงาน 

กระบวนการดำเนินงานประกอบด้วย ๑. การสร้างสำนึกและการมีส่วนร่วม โดยการร่วมคิด ร่วมค้นหาสถานการณ์ สาเหตุของปัญหาและวิธีการป้องกันแก้ไขผ่านกลไกการจัดประชุมประชาคม ๒. การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ๓. การใช้มาตรการทางสังคม               ๔. การปรับใช้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ๕. การให้การศึกษาเรียนรู้ ๖. การสร้างเยาวชนแกนนำรุ่นใหม่  ๗. การสร้างเครือข่ายทั้งภายในและนอกชุมชน ๘. การบูรณาการสู่สถานศึกษา ๙. การฟื้นฟูบำบัด ๑๐. ระบบอาสาสมัครชุมชน ๑๑. การใช้มาตรการทางกฎหมาย 

ปัจจัยส่งผลต่อความสำเร็จการดำเนินงาน ประกอบด้วย ๑. ข้อมูลสถานการณ์และสาเหตุของปัญหายาเสพติด ๒. การมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของปัญหาและร่วมรับผลประโยชน์          ๓. การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอก ๔. ทุนทางสังคมที่มีในชุมชน ได้แก่  ระบบ เครือญาติ ระบบอาวุโส ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และ ฐานทรัพยากร ๕. การมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยการสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ๖. บริบทชุมชนในวิถีชนบทที่มีการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด           ๗. ผู้นำและภาวะผู้นำ ที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อชุมชน และการเป็นต้นแบบ ๘. การทำงานแบบพหุภาคี 

ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน  ประกอบด้วย สถานการณ์ทางการเมืองได้แก่ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย  สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัญหายาเสพติดและสภาพสังคมทำให้ยากต่อการกำหนดรูปแบบโครงการ / กิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย การขาดข้อมูลเพื่อการจัดการเรียนรู้และวางแผน การขาดแคลนงบประมาณ ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องปัญหายาเสพติด

ผลจากการดำเนินงาน ทำให้ชุมชนเกิดความหวงใยในปัญหาของคนในชุมชน มีสำนึกร่วมทางสังคม เกิดพลังความสามัคคี สร้างกระบวนการการเรียนรู้ทางสังคมร่วมกัน มีความเชื่อมั่นในพลังของชุมชน การฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี และความสงบสุขของชุมชน  

หลักธรรมสำคัญที่ชุมชนใช้ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย ๑. หลักอริยสัจสี่ คือ การเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาและวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหายาเสพติด คิดค้นวิธีการแก้ไข และนำสู่การปฏิบัติรวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา ๒. หลักอปริหานิยธรรม คือ หลักการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มคณะ ซึ่งมีการรวมกลุ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลแห่งการกระทำคือ ความเป็นปกติสุขในสังคม ๓. หลักสามัคคีธรรม คือ การสร้างความร่วมมือ ปรองดอง เกื้อกูลรักใคร่ เมตตาต่อกัน ๔. หลักประโยชน์ ๓ ประการ ซึ่งเป็นฐานคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  โดยประกอบด้วย หลักประโยชน์ในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) โดยเน้นให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม รู้จักการแสวงหาทรัพย์ การเก็บรักษาทรัพย์อย่างถูกวิธี หลักประโยชน์ในชาติหน้า (สัมปรายิกัตถประโยชน์) คือการปฏิบัติตนเหมาะสมตามหลักศีลธรรม          เชื่อกฎแห่งการทำดีทำชั่วและหลักประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การดำรงตนอย่างสงบสุขด้วยปัญญาไตร่ตรอง มีสติเท่าทันความทุกข์เพราะโลภ โกรธ หรือหลง ๕. หลักธรรมไตรสิกขา คือ ได้รักษาศีล ได้เจริญสมาธิ และได้เจริญปัญญา

 

Abstract

 

The objectives of this qualitative study were to investigate the process of protection and solution of narcotics problem of the local community, the results of performances, the factors affecting the process of protection and solution of narcotics problems as well as the principle of Buddhadhamma applied by the local community for their own protection and solution process of narcotics problems.  The experimental study was carried on in Pa Phai village, Tambon Mae Pong, Doi Saket district, Chiang Mai. Interviews, group discussion, learning sources, observation along with participation were selected for data collection before the data were determined by a test for triple array validations and narrative data presentation was operated.  

The study found that Pa Phai village used to face the prevalence of the drug problems, but the experiences in local administration made them able to learn and adjust to drugs protection and solutions by using integrated strategy of incorporated concerns both inside and outside the community.  Under the circumstances, the social capitals as strength mechanism have induced the best performance for its compromising tasks to achievement amid the folk ways when a so called “community model” for narcotics protection deserves.  

The process of protection and solution of the narcotics problems consisted of the discussion process, the data reflection, performance plans, tasks procedures, functional units in the affected areas and the follow-up process. 

The task procedures comprise 1) fulfillments of public awareness and participation via local conferences described by incorporated groups of thinking process and situational analysis including the nature of drugs problems and its problem solving, 2) the application of the Principle of Sufficiency Economy, 3) the use of social measures, 4) the adaptation of local traditions and cultures, 5) learning experiences, 6) the establishment of new gens’ leaderships, 7) the building of peer networking inside and outside affected areas, 8) the data integration into schools, 9) the social restoration program, 10) the community volunteers system, and 11) the law enforcement.  

The factors affecting the performance achievement consisted of 1) information and the  cause of drugs problems, 2) feeling cooperative as problem owner and beneficiary, 3) the support of the people concerned both inside and outside the community, 4) the availability of social capital in community such as systems of clans and seniority, local wisdoms, culture and traditions and the base of resources, 5) the participation of juvenile by giving them an opportunity to participate in protecting and solving drug problems through various activities, 6) the close relationships and interaction among the people in community with social contexts of folk ways,  7) leaders and their leadership with intention to work for community and for being a good model,               8) the allied operators as partnerships. 

The factors that are the limitation of drug problem protecting and solving covers the political fluctuations; the changes of the government, the vague policies, the changed situations of the drug problems and society perspectives reducing the ability to operate task programs/ suitable activities in order for locating the target group in affected areas, the lack of data for learning and planning management, the shortage of subsidized funds and the low problems about narcotics.     

The results of performances made the community people concerned with their problems, have social awareness, energy of unity, establishment of social learning process, confidence in the energy of community, restoration of cultural and traditional importance, and the serenity of the local community. 

The principle of Dhamma applied by community into protecting and solving                   drug problem consisted of 1) the Four Noble Truth it includes problem situation and the             analysis of the causes of problem, investigate into the solving method, and leads to the implementation as well as the evaluation for the development, 2) Principle of Conditions of Welfare (Vajjã-aparihàniyadhamma) expressed by social functioning system as corporate community in gaining pleasure through ways of thinking, acting and taking process for their assignments, 3) principle of the unity expressed by incorporated organization, reconciliation scheme, friendly distribution and merciful practices, 4) the principle of three major benefits which is the expression of ideals about Sufficiency Economy and consisted of benefits obtainable here in this lite (Diţţhadhammikattha) leading to proper ways of life, and proper earning and saving for their own property and the benefits of the next life-birth phase hereafter; future benefit (Samparàyikattha) which is the proper practice according to the principle of morality and beliefs in the rules of actions (Karma) and the highest good (Paramattha) which is life sustainability of peace with personal wisdom along with capable mindfulness against misery caused by greed, wrath and delusion, and 5) the principle of the Threefold Learning which is expressed by precepts, concentration and wisdom.  

 

บทนำ

 

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง มีการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สถานบริการ นักเรียน นักศึกษาและเยาวชนทั่วไปในทุกพื้นที่           ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่สูง เขตเมืองหรือชนบท โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองจะมีการแพร่ระบาดมากที่สุด แม้จะมีการกวาดล้าง ตรวจค้น จับกุม ป้องกันหรือการให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก็ตาม จากรายงานสถานการณ์ปัญหายาเสพติดพบว่า มีหมู่บ้านที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดรุนแรงจำนวน ๓๕ หมู่บ้าน ระบาดปานกลาง ๙๕ หมู่บ้าน ระบาดเบาบาง จำนวน ๖๔๕ หมู่บ้านและมีหมู่บ้านปลอดยาเสพติดเพียง ๑๖๕ หมู่บ้าน ดังเช่น ตำบลแม่โป่ง เป็นชุมชนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดสารเสพติด ทั้งในลักษณะของผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย การลักขโมยและอาชญากรรม ซึ่งชุมชนได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐ และสร้างมาตรการของชุมชนเพื่อการควบคุมเช่น การเรียกผู้เสพผู้ขายมาเตือนเป็นรายบุคคล การแบ่งกลุ่มแกนนำเพื่อสอดสองดูแลผู้ที่พฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง หรือการสร้างพลังครอบครัวในการกำกับระหว่างกัน ทั้งนี้ก็ได้ผลในระดับหนึ่งและค่อยคลายคลอนโดยลำดับ ดังเช่น ปัจจุบันพบว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่รุกเร้าครอบครัวมีเวลาให้ระหว่างกันน้อยลงและความสนใจระหว่างเพื่อนบ้านเริ่มลดลง พร้อมกับนโยบายของรัฐยังขาดรูปธรรมที่ชัดเจน  จึงทำให้ปัญหายาเสพติดเริ่มรุกคืบในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใช้แรงงานบางส่วน

แต่อย่างไร เมื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของตำบลแม่โป่ง พบว่า ในจำนวน ๑๒ หมู่บ้านภายใต้เขตปกครองของตำบลแม่โป่ง ยังคงมี ๒ หมู่บ้านคือ บ้านป่าไผ่และบ้านแม่โป่ง มีปรากฏการณ์ในการป้องกันแก้ไขปัญหาสารเสพติดและได้รับรางวัลหมู่บ้านชนะเลิศป้องกันแก้ไขปัญหาสารเสพติด ทั้งนี้เกิดจากการสร้างความร่วมมือร่วมใจจากภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมพลิกฟื้นความเข้มแข็งของพลังชุมชนในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ทั้งยังเกิดจากการตระหนักว่า ฐานรากสำคัญที่โน้มนำให้เกิดผู้เสพและผู้ค้าคือ การขาดศีลธรรมที่ทำให้ดิ้นรนแสวงหาไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะต้องทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรม โดยนัยนี้วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ชุมชนสามารถจัดการได้นั้นจึงเป็นการนำเอาศาสนธรรมมาใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสารเสพติด จนก่อเกิดกระบวนการเคลื่อนไหวในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชนมีพลังมากขึ้น สามารถร่วมกันวางแผนดำเนินงานและเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็งและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชุมชน

ซึ่งปรากฏการณ์ของหมู่บ้านป่าไผ่และแม่โป่ง คงเสมือนกรณีตัวอย่างหนึ่งที่มีความพยายามในการป้องกันแก้ไขปัญหาสารเสพติดโดยนำเอาหลักพุทธธรรมมาปรับใช้และเห็นควรมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงรูปแบบการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน เพื่อนำเสนอเป็นต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาสารเสพติดสำหรับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

 

เครื่องมือและวิธีการวิจัย

 

การศึกษาวิจัยเรื่องกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยหลักพุทธธรรม หมู่บ้านป่าไผ่ ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการป้องและแก้ไขปัญหายาเสพติดชุมชน ตลอดจนหลักหลักธรรมที่ชุมชนใช้ในกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้ระเบียบวิธีเชิงคุณภาพ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่ม การจัดเวทีเรียนรู้ แหล่งข้อมูลประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ แกนนำชุมชน เยาวชน ตัวแทนหน่วยราชการในพื้นที่ และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลได้รับศึกษาวิจัยจะถูกนำมาตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้อง แยกแยะตีความ และนำเสนอโดยการบรรยาย  

 

 

ผลการวิจัย

 

หมู่บ้านป่าไผ่ เคยประสบปัญหาอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด แต่ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดการชุมชน ทำให้สามารถเรียนรู้ และปรับตัวอย่างเท่าทันเพื่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลวิธีที่หลากหลาย ประสานกลไกทั้งภายในและนอกชุมชน การใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในการดำเนินให้สอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชุมชน จนเป็นชุมชนต้นแบบขจัดปัญหายาเสพติด ทั้งนี้เมื่อศึกษาบทเรียนของชุมชน พบว่า

กระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน ประกอบด้วย ๑) กระบวนการค้นหาปัญหา ที่เกิดจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน  ๒) การให้ข้อมูลแก่ชุมชน คือ การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ยาเสพติด ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดสู่ชุมชนในลักษณะต่าง ๆ ๓) การวางแผนดำเนินงาน คือ การที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชน ผ่านการจัดเวทีประชาคม ๔) กระบวนการดําเนินงาน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหมู่บ้าน 

ผลสำเร็จการดำเนินงาน 

๑.  การรวบรวมองค์ความรู้การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการจัดเวทีการสนทนากลุ่มและการจัดเวทีการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน

๒.  การตระหนักรู้ และสำนึกรับผิดชอบต่อคนในอนาคต จากการพูดคุยแกนนำและผู้สูงอายุ ซึ่งบอกเล่าวิถีชุมชนนับจากอดีตตราบปัจจุบัน  

๓.  การจุดประกายพลังชุมชนและเครือข่าย ภายหลังที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน จึงนำสู่แนวคิดการสร้างเครือข่ายการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ในระดับตำบลและอำเภอ 

๔.  แผนงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด จากความเห็นร่วมกันของแกนนำ ซึ่งปัจจุบันแผนงานเครือข่ายได้ถูกบรรจุในแผนงานเทศบาลระยะ ๔ ปี

๕.  การสร้างการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยการจัดกิจกรรมเช่น การเข้าค่ายอบรม การจัดเวทีการเรียนรู้ที่มีเยาวชนร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น การสนับสนุนกิจกรรมในกลุ่มเยาวชน 

๖.  การบูรณาการหลักศาสนธรรมและส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด  

๗.  การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ด้วยความตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของชุมชน  

๘.  การสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและนำไปสื่อสารต่อแก่สมาชิกในครัวเรือน เพื่อนบ้านในชุมชน 

ข้อจำกัดการดำเนินงาน

.  ทรัพยากรเพื่อการดำเนินงาน ได้แก่ ชุมชนขาดการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากภายนอกอย่างเพียงพอ ขาดแคลนทรัพยากรซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมเช่น  การตรวจปัสสาวะ 

.  ข้อจำกัดด้านสังคม ได้แก่ สมาชิกรุ่นใหม่ที่ทำงานภายนอกชุมชนและไม่มีเวลาในการร่วมกิจกรรมชุมชนได้อย่างเต็มที่มีความคิดแบบปัจเจกเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การเมืองของชุมชนที่มีการเลือกตั้งทั้งในระดับผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบล ทำให้มีการแบ่งแยกฝักฝ่ายของกลุ่มผู้นำในชุมชน มีความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มผู้นำที่ทำงานในชุมชนบางกลุ่ม   

.  ข้อจำกัดอันเนื่องจากนโยบาย กฎระเบียบ และการปฏิบัติของภาครัฐ ได้แก่  ข้อจำกัดด้านระเบียบกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของผู้นำชุมชนมีไม่เพียงพอที่จะจัดการปัญหาในชุมชนได้ เช่น มีแหล่งอบายมุขที่ดึงดูดให้เยาวชนและคนในชุมชนเข้าไปใช้บริการจนไม่สนใจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

๑.  ข้อมูลสถานการณ์และสาเหตุของปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น การมี ข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 

๒.  การมีส่วนร่วมของชุมชน การดําเนินงานของหมู่บ้านป่าไผ่  เน้นการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในทุกกระบวนการดําเนินงาน

๓.  การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกชุมชน โดยการทำงานแบบบูรณาการ และปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๔.  ทุนทางสังคมในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย ระบบ เครือญาติ ระบบอาวุโส ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี ฐานทรัพยากรที่มีในชุมชน

. การมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยการสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดลักษณะต่าง ๆ 

.  บริบทชุมชน  การมีลักษณะทางสังคม วัฒนธรรมแบบเดียวกัน มีความผูกพันกับชุมชนและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในระบบเครือญาติ  

๗.  คุณลักษณะของผู้นำ ที่มีจิตมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อชุมชน และการทำงานร่วมกันเป็นทีมด้วย ความเสียสละ พร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานจะเกิดประสิทธิภาพได้

๘.  ศักยภาพและความพร้อมของคนที่มีการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลานาน ทําให้มีความสนใจเรียนรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับยาเสพติด 

๙.  การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลักธรรมในกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

หลักพุทธธรรมที่ใช้กระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดประกอบด้วย หลักอริยสัจ  ๔ ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการค้นหาปัญหาและแก้ปัญหายาเสพติดของชุมชนคือ หลักทุกข์  การค้นหาสาเหตุของปัญหา คือ หลักสมุทัย การกำหนดเป้าหมาย คือ หลักนิโรธและการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา คือ หลักมรรค 

การที่ชุมชนป่าไผ่ดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนได้ประสบผลสำเร็จ  เป็นเพราะพลังความร่วมมือร่วมใจร่วมคิดร่วมปฏิบัติ และร่วมรับผลจากการปฏิบัติของคนในชุมชน อีกทั้งจากภาพลักษณ์ของการเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ล้วนเกิดจากการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ที่ผ่านบทเรียนทั้งด้านลบและบวกร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักอาปาริหานิยตธรรม ๗  เช่นเดียวกับการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการทำงานร่วมกัน การเคารพระเบียบ กติกา กฎเกณฑ์ของชุมชน ซึ่งเป็นไปตามหลักสามัคคีธรรม อีกทั้งด้วยการเป็นหมู่บ้านในบริวารโครงการศูนย์ศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้  ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้รับอิทธิพลสูงจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชน ซึ่งพบว่า มีการปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยเน้นหลักประโยชน์ ๓ ประการ คือ หลักประโยชน์ในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) โดยเน้นให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม รู้จักการแสวงหาทรัพย์ การเก็บรักษาทรัพย์อย่างถูกวิธี หลักประโยชน์ในชาติหน้า (สัมปรายิกัตถประโยชน์) คือการปฏิบัติตนเหมาะสมตามหลักศีลธรรม เชื่อกฎแห่งการทำดีทำชั่วและหลักประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การดำรงตนอย่างสงบสุขด้วยปัญญาไตร่ตรอง มีสติเท่าทันความทุกข์เพราะโลภ โกรธหรือหลง

สิ่งที่สำคัญซึ่งเป็นหัวใจการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาสารเสพติดของบ้านป่าไผ่สำเร็จผลได้เพราะการที่คนในชุมชนปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรมไตรสิกขา คือ ได้รักษาศีล ได้เจริญสมาธิ และได้เจริญปัญญา 

 

 

อภิปรายผลการวิจัย

 

หัวใจสำคัญของกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของชุมชนคือ การทำงานแบบพหุภาคี ยึดฐานรากของชุมชน ผ่านกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ แก้ไขปัญหาแบบองค์รวม มีความหลากหลายต่อเนื่อง การใช้กลไกเครือข่ายหนุนเสริมทั้งจากภายในและนอกชุมชน สอดคล้องกับผลงานงานวิจัยของนายนรินทร์  แก้วมีศรี และคณะ (๒๕๔๖) ได้ศึกษาวิจัย แนวทางการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ผลการวิจัย พบว่า ชุมชนเกิดการพัฒนาในหลายด้าน ได้แก่ () ผู้นำมีประสบการณ์การพัฒนา () ชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดี () การช่วยเหลือ () ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง () การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในการช่วยเหลือผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่เป็นผู้เสพ ครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบ ตามบทบาทความสัมพันธ์และกลไกทางสังคมที่มีในชุมชน ดังนั้น การส่งเสริมกระบวนการประชาสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนจึงก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนอย่างมาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชน ทั้งเกิดความเข้าใจต่อสภาพปัญหาและร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนและทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและครอบครัวตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมในด้านอื่น ๆ ของชุมชนที่สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน  นำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่นเดียวกับผลงานวิจัยของสุดธนา ปัทมวัฒน์  (๒๕๔๖)  ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยกระบวนการประชาสังคม ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ผลการวิจัยพบว่าการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกระบวนการประชาสังคม ของตำบลศิลาเพชรเกิดจากชุมชนเห็นความสำคัญของปัญหายาเสพติด มีการรวมตัวเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ปัญหา มีการวางแผนการดำเนินงาน มีการประชาคมต้านยาเสพติดในทุกหมู่บ้าน  เพื่อค้นหาผู้เสพผู้ค้าและทำการประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎประชาคม มีการวางแผนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการหางบประมาณในการดำเนินงานในลักษณะการบูรณาการทั้งตำบล โดยมีแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดกลวิธีการดำเนินงาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่กลุ่มผู้เสพยาบ้าและแกนนำร่วมเรื่องยาเสพติด การสร้างเวทีชาวบ้าน กำหนดและปฏิบัติตามมาตรการทางสังคม มีแผนงานชุมชน และ มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง การทำพันธะสัญญาประชาคมและการบำบัดผู้ค้าและผู้เสพ การเฝ้าระวังและรับการบำบัดโปรแกรมกายจิตสังคมบำบัดในโรงเรียน สอดคล้องกับการดำเนินงานตามหลักอริยสัจสี่ คือ  การตระหนักถึงปัญหาหรือความทุกข์ การหาสาเหตุแห่งความทุกข์ การแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา และการนำไปปฏิบัติ เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้คนในชุมชนปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ซึ่งเป็นหลักธรรมเพื่อการดำเนินชีวิต

 

ข้อเสนอแนะ

 

ก. ข้อเสนอแนะเพื่อการนำไปใช้

) ควรมีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนต้นแบบเอาชนะปัญหายาเสพติดให้ขยายกว้างขวางมากขึ้น

๒) การสร้างเครือข่ายและกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่

ข. เพื่อการพัฒนาทางวิชาการและงานวิจัย

๑)  ควรมีการศึกษาวิจัยการประเมินผลเครือข่ายองค์กรชุมชนในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

๒)  ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำและองค์กรท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด

 

เอกสารอ้างอิง

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัย.  พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

กาญจนา  แก้วเทพ.  ภาพรวมของการพัฒนาองค์กรชุมชน: องค์กรชุมชน กลไกเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม.  กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๐.

ประเวศ  วะสี.  ประชาคมตำบลยุทธศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ศีลธรรมและสุขภาพ.  กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๑. 

ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์.  วิถีใหม่แห่งการพัฒนา: วิธีวิทยาศึกษาสังคมไทย.  กรุงเทพมหานคร:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

สุพัตรา  ชาติบัญชาชัย.  กระบวนการเรียนรู้: แนวคิด  ความหมาย และบทเรียนในสังคมไทย.  กรุงเทพมหานคร: โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข, ๒๕๔๙.  

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕