หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระครูสิริรัตนานุวัตร » การบนบาน บวงสรวง: แนวคิด หลักการ อิทธิพลต่อสังคมไทย
 
เข้าชม : ๑๘๐๒๔ ครั้ง

''การบนบาน บวงสรวง: แนวคิด หลักการ อิทธิพลต่อสังคมไทย''
 
พระครูสิริรัตนานุวัตร, รศ.ดร. (2556)

 

การบนบาน บวงสรวง: แนวคิด หลักการ อิทธิพลต่อสังคมไทย

The Pledge, Sacrifice: Concept, Principle and Influence on Thai Society

 

พระครูสิริรัตนานุวัตร, รศ.ดร. : ป.ธ.๕,พธ.บ.,พธ.ม., รศ.ดร.

พระอาทิตย์ อติภทฺโท: น.ธ.เอก, พธ.บ.

จุฑากานต์ กิ่งเนตร: พธ.บ.

พราห์มมร โล่สุวรรณ: กศ.บ.

หัสดินท์  ภาณุอิสริยาภรณ์ และคณะ : ม.๖

 

บทคัดย่อ

 

              การศึกษาวิจัยเรื่อง “การบนบาน บวงสรวง: แนวคิด หลักการและอิทธิพลต่อสังคมไทย” นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาแนวคิด และประวัติความเป็นมาของการบนบาน บวงสรวงที่ปรากฏในสังคมไทย ศึกษาอิทธิพลของการบนบาน บวงสรวงที่มีต่อสังคมไทย และศึกษาวิเคราะห์หลักจริยธรรมเชิงพุทธของการบนบาน บวงสรวง กรณีศึกษาการบนบาน บวงสรวงต่อพระพุทธชินราช ทำการศึกษาเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลแบบความเรียง ใช้กลุ่มตัวอย่างเก็บข้อมูลกับผู้มา              บนบานฯ ต่อพระพุทธชินราชซึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ 

              ผลการวิจัย พบว่า ผู้บนบานจะขอบนบานในเรื่อง ขอให้ได้ลูกและเรียนเก่ง ขอให้หายป่วย ขอให้ได้ของหายกลับคืน ขอให้ถูกหวยรวยเบอร์ ขอให้เรียนเก่ง ขอให้ได้เกรดคะแนนดี ขอให้มีโชคลาภ ขอให้มีฐานะดี ร่ำรวย ขอให้ได้ตำแหน่ง ขอให้ได้เลื่อนยศ แต่หลักการการบนบานนั้นก็จะมีการแก้บนตามที่ตกลง ซึ่งเครื่องบนบานจะมีพวงมาลัย ละครรำ หัวหมู ผลไม้ ไข่ต้ม ดอกไม้ บายศรี มากราบไหว้หลวงพ่อ ขอเป็นลูกหลวงพ่อ บวชแก้บน ทำดีแก้บน ให้ทานแก้บน เลี้ยงเพลพระสงฆ์ เลี้ยงอาหารแก่นักเรียน เป็นเจ้าภาพบวชพระแก้บน

               ตามวิถีชีวิตของชาวอินเดียโบราณมีความเชื่อเรียกว่ายัญพิธี ซึ่งมีแนวโน้มไปในการเบียดสัตว์ ฆ่าสัตว์บูชายัญ แต่ตามจริยธรรมเชิงพุทธแล้ว พระพุทธเจ้าปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เรียกว่า พลีกรรม ๕  เป็นลักษณะการทำหน้าที่ทางสังคมที่ดี สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน หนึ่งในพลีกรรม ๕ นั้นคือ เทวตาพลี คือปฏิบัติตนที่ดีต่อเทวดา อัญเชิญมาร่วมพิธีเพื่อรับรู้ และขอให้ช่วยคุ้มภัย ให้โชคลาภ ให้ปลอดภัยแก่ชีวิต มีกรณีตัวอย่างที่ทำพิธีบนบาน บวงสรวงแล้วได้ผล นั่นคือธรรมบาลกุมารที่รับท้าตอบปัญหา ๓ ราศีกับกบิลพรหมได้ชัยชนะ ก็ถือกำเนิดจากการบนบานกับรุกขเทวดาประจำต้นไทรโดยพ่อแม่เศรษฐี จึงเกิดอิทธิพลแก่คนไทยทำพิธีบนบาน บวงสรวงเพื่อขอบุตรหรือโชคลาภอื่น ๆ นอกจากบนบานกับพระพุทธชินราชแล้ว ยังบนบานกับหลวงพ่อหรือสิ่งเคารพอื่น ๆ ด้วย

   แม้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธแต่ก็ยังมีเรื่องพิธีกรรมการบนบาน บวงสรวงอยู่ มิใช่แต่พิธีกรรมของชาวบ้านเท่านั้น  แม้แต่พิธีกรรมที่เป็นของพระพุทธศาสนาศาสนาโดยเฉพาะก็ยังมีพิธีกรรมนี้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ทั้งนี้สอดคล้องกับการเปรียบเทียบสังคมกับต้นไม้ที่มีสะเก็ด กะพี้และแก่น สังคมพุทธมีการยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม ยืดหยุ่นตามเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมเชิงพุทธด้วยเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง ถือพิธีบนบาน บวงสรวงด้วยสติบนฐานจริยธรรมเชิงพุทธ ๓ ระดับ คือ ระดับต้นได้แก่ ศีล ๕ ระดับกลาง ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และระดับสูง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ 

 

Abstract

 

              This research on “The Pledge, Sacrifice: Concept, Principle and Influence on Thai Society” is of the following objectives; to study of concept and background of  the pledge and sacrifice on Thai society, to study its influence on Thai society and to study Buddhist Ethics in the pledge, sacrifice: a case study of Buddhachinaraj.  It is qualitative research. The data were analyzed by essay and its samples group were accidentally selected from from those who do the pledge, sacrifice towards Buddhachinaraj.

              It was that the pledge and sacrifice they have done are the aspiration of a child with good learning, recovery from sickness taking back of the lost things winning lottery, being good at learning, a good grade, a lucky man, a good status, a rich man, a high rank, a higher rank, in principle, votive offering must be given according to the agreement of the pledge and sacrifice.  The votive offering of the pledge, sacrifice are garlands, dancing, a boar’s head, fruits, a boiled eggs, a flowers, respect to Buddhachinarat.  Besides to be his child, to be a monk, to do good, to offer something to a poor man, to offer lunch to all people, to give lunch to the Buddhist monks.

              According to the way of life of ancient India, the people believed in the sacrificial ceremony (yañbidhī).  The pledge and sacrifice tend towards the violence to all being, to killing animals for sacrifice. But according to the Buddhist ethics, the Buddha changes new concept being called ‘the five sacrificial ceremonies’ (blïkamma) which is the form of social duty and welfare to each others.  One of  the five sacrifices is devatãbali (religious offering to gods) meaning good action to him and invitation of him  to attend some some ceremonies for perceiving and helping for safety and to give luck to people. For example, the successful pledge and sacrifice are Deva Dhammapalkumar who is the volunteer to answer three questions of zodiac from Deva Kapilapom.  He was also born from the pledge, sacrifice towards rukkhadev (tree god) by his parents. Thereby this influence happened according to Thai people according to belief in the pledge and sacrifice for aspiration of a child or other luck. Not only the pledge and sacrifice are done with Buddhachinaraj, but also with other holy images and other places. 

              Although Thai society is the Buddhist society, there is the ceremony of the pledge and sacrifice. It is not only the ceremony of common people but also of the Buddhists. Such case is compared between a man and a tree.  The tree is composed a splinter, alburnum and core.  Buddhist society flexible according to natural and social environment and on also according to the criteria of Buddhist morality decision.  Thai society regards the pledge and sacrifice basing on basis of Buddhist ethics with mindfulness in three levels;- the primary level - Paňca Sïla, the middle level -ten wholesome courses of action and the high level – the Eightfold path.  

 

บทนำ

 

                 จากการศึกษาเอกสารพระไตรปิฎกนี้ จะเห็นได้ชัดว่า การบนบาน บวงสรวง มีอยู่จริงตั้งแต่สังคมอดีตกาล แต่เราอยากจะรู้ลึก ๆ ต่อไปว่า พระพุทธศาสนามองเรื่องนี้อย่างไร แล้วสังคมไทยในฐานะสังคมพุทธในยุคปัจจุบันมองเรื่องนี้อย่างไร อันที่จริงก็ชัดอยู่แล้วว่า  พระพุทธศาสนามีทัศนะตรงกันข้าม แล้วจึงปฏิรูป ประยุกต์ ปรับเปลี่ยนมาเป็นหัวข้อธรรมต่าง ๆ  เช่น พระพรหม ซึ่งศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่ง แต่พระพุทธเจ้าก็ปรับเปลี่ยนเป็นพรหมวิหารธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับปฏิบัติของบุคคลที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่แท้จริง ยัญพิธี ปรับเปลี่ยนเป็นพลีกรรม อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น เรื่องนี้ รายละเอียดมีอย่างไร จะแสดงไว้ในวิจัยนี้ จึงบอกได้ว่า สมควรทำการวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อได้รับความกระจ่างและศึกษากรณีในเชิงวิชาการต่อไป

             ถ้ามองในแง่ความสำคัญแล้ว ต้องยกมาสู่คำว่า ความเชื่อ (belief) ของการบนบาน ผู้เขียนถือว่า ความเชื่อเป็นความจำเป็นประจำตัวของแต่ละบุคคล คือว่าทุกคนจะมีความเชื่อต่ออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเชื่อในเรื่องที่แตกต่างกันไปหรือเชื่อในเรื่องเดียวกันแต่ต่างมุมมองกันก็ตาม เราแบ่งความเชื่อนี้เป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนหลังกับส่วนหน้า ความเชื่อส่วนหลังนั้น หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งตรงกับเหตุปัจจัยที่ตนทำไว้จริง ๆ เช่นว่า เราเคยตีงูจนหลังหัก เลื้อยต่อไปไม่ได้ ผลแห่งการกระทำนั้นทำให้ตนต้องปวดหลังซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับอาการที่ตนตีงูหลังหักนั้น          จริง ๆ อย่างนี้จะเรียกว่าเชื่อตามกรรม ในพระพุทธศาสนาได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ด้วยคำว่า กัมมสกตาสัททา แปลว่าเชื่อในกรรมที่เป็นของตนหรือที่ตนทำ จะจริงหรือไม่จริงนั้น ให้คิดวัดเอาจากเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ส่วนความเชื่อส่วนหน้านั้น เป็นเรื่องอนาคต เหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นกับตน อันนี้ว่าโดยประสบการณ์เชิงประจักษ์แล้วทุกคนอาจจะเชื่อบ้างเพียงครึ่งหนึ่งก่อน แต่ก็ด้วยความเชื่อกรรมเป็นหลักตามนัยพระพุทธศาสนาที่ให้เชื่อกรรมว่าเป็นทายาท มีกรรมเป็นสรณะ คงจะต้องมีวันใดวันหนึ่งเกิดกับตนแน่ ๆ แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าจะเกิดจริงคือเชื่อครึ่งเดียว ในความรู้สึกทุกคนต้องเป็นอย่างนี้แน่ ๆ ส่วนครึ่งที่เหลือนั้นเผื่อไว้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่เชื่อจริงได้ ประเด็นนี้แหละที่ทำให้คนเราต้องคิดที่จะทำการบนบานไว้กันพลาด หรือว่า เรื่องที่บนบานนั้นสำคัญต่อชีวิตมาก เพราะความไม่เชื่อมั่นในตนเอง และยังคิดว่าจะมีอำนาจเหนือธรรมชาติช่วยได้ จึงมีพิธีบนบาน เช่นสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งโอกาสมาครั้งเดียว หรือนาน ๆ มาครั้งหนึ่งในรอบปี ถ้าพลาดคราวนั้นแล้ว ก็หมดโอกาสต่อไปจริง ๆ ถึงแม้โอกาสไม่หมด แต่อายุของเรามีขอบเขตจำกัด ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลาด ต้องทำพิธีบนบานขอความช่วยเหลือจากเทพเบื้องต้นดังว่านี้

                 ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การบนบาน ถือว่าอิงอยู่กับความเชื่อ เช่น เชื่อว่า องค์เคารพที่ตนบนบานนั้นจะให้ผลแก่ตนได้จริง จึงทำเงื่อนไขว่า จะนำสิ่งของที่เชื่อว่าองค์เคารพจะโปรดปรานมาแก้บน ณ ที่นี้ผู้บนบานมีความเชื่อว่าพระพุทธชินราชจะให้ผลสิ่งที่ตนบนบานจริง จึงทำสัตยสัญญาว่าจะแก้บนด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่นว่า หัวหมู ผลไม้ ไข่ต้มเป็นต้น จึงเป็นประเด็นที่นี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คน นั้นบนบานคืออะไรและเรื่องที่ตามมาคือผลลัพธ์ของการบนบาน อาจจะเป็นไปได้ว่า ผลลัพธ์ของการบนบานนั้นจะเป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือได้ใกล้เคียง เช่นว่า บนบานไว้ขอให้ได้บุตรชาย แต่ก็ได้เหมือนกัน แต่เป็นบุตรหญิงอย่างนี้ บนบานว่าให้สอบได้ที่หนึ่ง แต่ได้เหมือนกัน แต่เป็นที่สองที่สามอย่างนี้

                 การบนบานนี้ต่างจากการอ้อนวอน ซึ่งการอ้อนวอนนี้สามารถอ้อนวอนได้โดยไม่ต้องมีการแก้บน คือแม้จะได้ผลตามที่ตนอ้อนวอนแล้วก็ไม่ต้องแก้บนด้วยสิ่งใด ๆ ส่วนการอธิษฐาน การขอพร การบวงสรวงก็เช่นเดียวกัน คือขอให้ได้ตามที่ตนปรารถนา เมื่อได้ผลแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องแก้บนหรือสะเดาะเคราะห์ด้วยสิ่งของอะไรทั้งสิ้น

                 เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่า การบนบานนี้มีตำนานมาอย่างไร ถ้าเชื่อมโยงไปยังศาสนาโดยเฉพาะศาสนาเทวนิยมแล้ว การเซ่นสรวง การสังเวยเพื่อให้เทพนั้นโปรดปรานเป็นลักษณะเดียวกันหรือไม่ มั่นใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เห็นได้จากแม่กาลี องค์เทพเคารพศาสนาพราหมณ์ ซึ่งท่านโปรดเลือดสด ๆ จากการตัดคอแพะและนำเลือดที่พุ่งออกจากคอแพะนั้นแล้วไปสังเวยเจ้าแม่กาลีเพื่อไถ่บาปให้แก่มนุษย์ เป็นที่มาของคำคติโบราณว่า  แพะรับบาป ซึ่งหมายถึงใช้ชีวิตแพะรับบาปแทนมนุษย์ ทำให้มนุษย์พ้นบาป แทนที่ตนจะไปตกนรกกลับเข้าสู่สวรรค์ได้ ส่วนแพะนั้นต้องตายไป แต่พระพุทธศาสนาถือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก ตั้งอยู่บนความรักความเมตตาต่อ          สรรพสัตว์

                 ประเทศไทย กล่าวขานกันว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา มีจริยธรรมพื้นฐานคือศีล ๕ ซึ่งข้อที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ แล้วทำไมละหัวหมูที่นำมาบนบานนั้นแม้เป็นหัวหมูที่ตายแล้วแต่ก็เป็นการใช้ชีวิตสัตว์อยู่นั่นเอง นำมาสังเวยเป็นการแก้บน ถ้าพูดในทำนองกับแพะรับบาปแล้ว ก็คือหมูนำโชคนั่นเอง เพราะหมูยอมตายที่ทำให้คนพ้นเคราะห์ได้โชคชัยแก่ชีวิต กรณีตัวอย่างที่พระวิหารพระพุทธชินราช ได้รับคำกล่าวเล่าขานกันว่า บนบานแล้วได้ผล โดยเฉพาะเกี่ยวกับการทหารการรบในสงคราม ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า สมเด็จพระนเรศวร มหาราชนั้น ทุกครั้งที่ออกสงครามจะนำพลไปกราบนมัสการพระพุทธชินราชพร้อมกับรับน้ำมนต์หน้าพระวิหารจากโอ่งน้ำมนต์ ๒ ลูกตั้งอยู่ ๒ ข้างทางเข้าพระวิหาร เมื่อรบกลับมาแล้วก็เข้ากราบนมัสการอีกครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตร นอกจากนี้ การสอบเข้าเป็นทหาร การเพื่อเลื่อนยศ เลื่อนขั้น ก็ทำพิธีบนบานเพื่อให้ได้ตามที่ปรารถนา  กรณีหนึ่ง เป็นการบนบานเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจในทำนองว่าขอให้ได้ค้าขายดีมีกำไร ปรากฏว่าได้ตามที่บนบานจริง ๆ แล้วก็แก้บนนั้นด้วยหัวหมู ผลไม้ ไข่ต้มเป็นต้น  ประเด็นนี้เป็นความโปรดปรานของพระพุทธชินราชหรือ หรือว่าเป็นความเชื่อของคนบนบานเองว่าจะให้หัวหมูนำโชคให้ได้ ดังนั้น น่าจะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาถึงตำนานการบนบานและปัจจัยที่ทำให้คนต้องบนบานพร้อมด้วยผลลัพธ์จากการบนบานนั้น

                 ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาแล้วตั้งอยู่บนฐานของความไม่เบียดเบียน หลีกเลี่ยงการกระทำด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง มีจริยธรรมเชิงพุทธยอมรับคำติชมจากบัณฑิตชน จะเห็นได้จากสูตรหนึ่ง ชื่อมหาปทานสูตร ตอนบรรพชิต  เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก  ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ (บรรพชิต) จึงตรัสถามนายสารถีว่า   

                        สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ ทั้งศีรษะและเครื่องนุ่งห่มของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆนายสารถีทูลตอบว่า ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่า บรรพชิต ทำไมเขาจึงชื่อว่า บรรพชิต ผู้นั้นชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี พระเจ้าข้า บรรพชิตนี้ ดีแท้ เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี ถ้าเช่นนั้น ธอจงขับรถไปทางบรรพชิตนั้น”[1]

                   ในกันทรกสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย  พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะการทำให้ตนและคนอื่นให้เดือดร้อน ประกอบตนและคนอื่นให้เดือดร้อน ว่า 

                        “บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี  ...พระราชารับสั่งอย่างนี้ว่า  จงฆ่าโคตัวผู้ประมาณเท่านี้ บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวผู้ประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าลูกโคตัวเมียประมาณเท่านี้ บูชายัญ จงฆ่าแพะประมาณเท่านี้บูชายัญ จงฆ่าแกะประมาณเท่านี้บูชายัญ (จงฆ่าม้าประมาณเท่านี้บูชายัญ) จงตัดต้นไม้ประมาณเท่านี้เพื่อทำเสาบูชายัญ จงเกี่ยวหญ้า ประมาณเท่านี้เพื่อลาดพื้นเหล่าชนผู้เป็นทาสก็ดี เป็นคนรับใช้ก็ดี เป็นคนงานก็ดีของพระราชานั้น ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม มีน้ำตานองหน้า  องไห้ไปทำงานไป ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน”[2]

                 จากพุทธพจน์ข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การประกอบพิธีบูชายัญด้วยการชีวิตอื่น ๆ นั้น ย่อมเดือดร้อนแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นทำให้คนสนองงานประกอบพิธีกรรมนี้ก็เดือดร้อน มีภัยคุกคาม ร้องไห้ไป ทำงานไป ใช้ชีวิตอยู่ไม่เป็นสุข พระองค์เห็นความทุกข์ทรมานประการนี้จึงตรัสข้อบัญญัติเรื่องพรหมจรรย์ประกอบด้วยนัย ๑๐ ประการ หนึ่งใน ๑๐ ประการนี้คือ เบญจศีล[3] ซึ่งข้อ ๑ ว่าด้วยการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์

                 ดังกล่าวมานี้ ทำให้เราทราบถึงคนปฏิบัติต่อพิธีกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์ให้สิ่งเคารพนั้นพึงพอใจ ถ้าตนไหว้ดีพลีถูก ก็สามารถบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาเร็วพลัน ขณะเดียวกัน ถ้าไหว้ไม่ดี พลีไม่ถูกก็ได้รับเคราะห์กรรม ถูกธรรมชาติคุกคาม เมื่อถูกธรรมชาติคุกถาม ก็คิดว่าธรรมชาติเหล่านี้มีเทพสิงสถิตอยู่ จึงเป็นที่มาเทพประจำธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ มีเทพประจำคือ สุริยเทพ ดวงจันทร์ มีเทพประจำคือจันทรเทพ แม่น้ำ มีเทพ ประจำคือพระแม่คงคา ลม มีเทพประจำคือ พระวายุ ต้นไม้ มีเทพประจำคือ รุกขเทพ ด้วยการที่มนุษย์คิดว่า ธรรมชาติต่าง ๆ มีเทพประจำนี้ จึงทำการเคารพธรรมชาติ ถือธรรมชาติเป็นที่พึ่ง เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเป็นลักษณะความเข้าใจมนุษย์ในยามมีภัยคุกคามว่าจะคิดอย่างไร และแยกที่พึ่งแบบใดแท้จริงหรือไม่แท้จริงไว้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า 

“มนุษย์จำนวนมาก  ผู้ถูกภัยคุกคาม ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์  เป็นสรณะ “นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุดเพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง “ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณา เห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึง ความสงบระงับทุกข์ “นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”[4]

                 ดังนั้น ด้วยความสนใจที่ศึกษาเรื่องนี้  ผู้วิจัยจึงดำเนินการศึกษาถึงแนวคิด ประวัติ หลักการอิทธิพล ตลอดถึงจริยธรรมพุทธต่อการบนบาน บวงสรวง มีความขัดแย้ง หรือเห็นพ้องกันอย่างไร สังคมพุทธไทยเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องนี้อย่างไร มีความเชื่อต่อการบนบาน บวงสรวงในลักษณะใด คนที่มาบนบานกับพระพุทธชินราชนั้นประสบผลสำเร็จในเรื่องใดบ้าง แล้วแก้บนด้วยอะไร

 

 

วิธีการวิจัย

 

     การวิจัยเป็นการศึกษาเรื่องการบนบน บวงสรวง: แนวคิด หลักการ และอิทธิต่อสังคมไทย ผู้วิจัยได้กำหนดวิธีดำเนินการวิจัยไว้ ดังนี้

     ๑.  รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

     ๒.  การเก็บข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยตลอดจนการวิจัยภาคสนาม เพื่อประกอบในเนื้อหา อีกทั้งใช้แบบสัมภาษณ์แบบเจาะจงที่มีโครงสร้าง มีลำดับขั้นตอนต่อไปนี้

                       ) ขั้นรวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากแหล่งปฐมภูมิ และทุติยภูมิ

                       ) ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการศึกษาและเรียบเรียงข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด และนำเสนอผลการศึกษา โดยการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาจุดร่วมและจุดต่างของข้อมูลจากเอกสาร  จากผู้รู้ นักวิชาการชุมชนทั่วไป เพื่อให้เห็นภาพรวมที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในองค์รวม  วิธีเรียงข้อมูลโดยความเรียง โดยเรียบเรียงจากการรวบรวมคำสัมภาษณ์ และทำตารางสรุปยอดอีกครั้งหนึ่งไว้หลังคำสัมภาษณ์ เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้น 

                  ๓) เครื่องมือวิจัย เนื่องจากการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ดังนั้น เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลจึงเป็นแบบสอบถาม โดยออกแบบสอบถามแบ่งประเด็นคำถามเป็น ๒ ตอน โดยตอนแรกเป็นข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถามทั่ว ตอนที่ ๒ เกี่ยวกับแนวคิด ประวัติความเป็นมา อิทธิพล และจริยธรรมเชิงพุทธที่มีต่อพระพุทธชินราช ทั้งนี้เพื่อให้ได้คำตอบที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

           ๔) ขอบเขตและความจำกัดของวิธีการศึกษา

(๑) ขอบเขตประชากร ได้แก่ ผู้มาแก้บน บริเวณพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๔๕ เทียบขนาดกลุ่มประชากรของ Krejcie and Morgan ได้ ๔๐ คน/คณะ        

(๒) ขอเขตด้านเนื้อหา ได้แก่ การบนบาน การบวงสรวง: มีแนวคิด หลักการและจริยธรรมเชิงพุทธต่อพระพุทธชินราช รวมถึงการบูชายัญ

(๓) ขอบเขตด้านพื้นที่  ได้แก่ พื้นที่ที่กำหนดเป็นกรณีตัวอย่าง คือสถานที่บนบานบริเวณพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

(๔) ขอบเขตด้านเวลา ได้แก่ เวลาดำเนินการตามสัญญาวิจัยที่ทำไว้กับสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ ๑ กุมภาพันธ์ ถึง ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕

(๕) ขอบเขตวิธีการศึกษา  ได้แก่ การกำหนดศึกษาข้อมูลด้านเอกสาร โดยการ         ค้นหาข้อมูลที่สามารถเชื่อถือได้ และสามารถอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อการสืบค้นได้ เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎก เอกสารประกอบการบรรยายทางวิชาการ บทความ วารสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์ สื่ออิเลคทอนิกส์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับหลักแนวคิด นอกจากจะศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้คงแก่เรียน รวมถึงหมอดูดวง หมอผี ร่างทรงเทพเจ้า ต่าง ๆ  ด้วย

 

ผลการวิจัย

 

                 ผลการวิจัย พบว่า สังคมไทยปัจจุบันนี้นิยมเสริมชะตาชีวิตและอนาคตด้วยพิธีกรรมมีการบนบาน บวงสรวงฯ ด้วยความเชื่อว่า สรรพสิ่งมีเทพเจ้าครอบครองอยู่และคุ้มครองรักษา รับรู้การกระทำของมนุษย์ เช่น แม่น้ำ ต้นไม้ ป่า สิงขร อาคารบ้านเรือน เป็นต้น ในเมื่อมนุษย์ได้รับผลจากการกระทำตามที่ตนปรารถนาแล้วก็คิดจะตอบสนองคุณความดีของเทพเหล่านั้น อันเนื่องจากอิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่สอนให้กตัญญูต่อบุคคลหรือสิ่งที่ให้คุณแก่ตน อันที่จริงแล้ว ความเชื่อแบบนี้ก่อนพระพุทธศาสนากำเนิด 

                 ลักษณะการบนบาน บวงสรวง สังเวยนิยมเบียดสัตว์ ฆ่าสัตว์บูชายัญตามคติของความเชื่อของอินเดียโบราณ แต่พระพุทธเจ้าเปลี่ยนแนวคิดใหม่เรียกว่า พลีกรรม ๕ เป็นลักษณะการทำหน้าที่ทางสังคมที่ดี สงเคราะห์ซึ่งกันและกันหนึ่งในนั้นคือ เทวตาพลี คือทำบุญอุทิศให้เทวดา ทำนองเดียวกันนี้ เทศกาลสงกรานต์ ก็มีตำนานเรื่องบนบาน บวงสรวงฯ แล้วได้ผล  นั่นคือ ธรรมบาลกุมารที่รับท้าตอบปัญหา ๓ ราศีกับกบิลพรหม ก็ถือกำเนิดเกิดจากการบนบานจากรุกขเทวดาประจำต้นไทรของเศรษฐี ๒ ผัวเมีย จึงเกิดอิทธิพลแก่คนไทยนิยมทำพิธีกรรมบนบาน บวงสรวงฯ เสริมชะตาชีวิตและอนาคตตามความเชื่อของตนเกี่ยวกับการศึกษา การได้บุตร โชคลาภเป็นต้นต่อพระพุทธชินราช  หลวงพ่อโสธรและองค์อื่น ๆ ในประเทศไทย

                 เกี่ยวกับการบนบาน บวงสรวงฯ ในฐานะสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ จะนับถือพระพุทธศาสนาใน ๓ ระดับสถานะ เปรียบกับต้นไม้ คือ สะเก็ด ได้แก่สังคมพื้นบ้าน ถือศาสนาตามคติโบราณสืบกันมา ระดับกะพี้ ได้แก่สังคมพื้นบ้านที่ได้รับการศึกษาพอสมควรมีเหตุผลประกอบความเชื่อนั้น และระดับแก่น ได้แก่สังคมที่มีการศึกษาสูงมองโลกเชิงวิทยาศาสตร์ มองโดยภาพรวมสังคมทุกระดับชั้นก็ยังนิยมประกอบพิธีบนบาน บวงสรวงในกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ แต่สังคมไทย ในฐานะเป็นสังคมที่นับถือพุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต แม้จะนิยมบนบาน บวงสรวงฯ ก็ตาม แต่ก็ทำด้วยเมตตา กรุณา มีสติ ตั้งบนฐานจริยธรรมเชิงพุทธ ๓ ระดับ คือ ระดับต้นได้แก่ ศีล ๕ ระดับกลาง ได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และระดับสูง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ

วิจารณ์

 

             พระพุทธศาสนานั้นถือกรรมเป็นกำเนิด เป็นทายาท ถือกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นที่พึ่ง พึงตนเอง ไม่สอนให้เชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์  เพราะการบนานฯ นี้เข้าข่ายหวังพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่ใยเล่าสังคมจึงถือและปฏิบัติกับพิธีกรรมอันนี้ นั่นเป็นเพราะว่าเป็นพระพุทธศาสนาแบบไทย ๆ กระมัง ที่ยังถือ ยังเชื่อ และปฏิบัติกับพิธีกรรมอันนี้อยู่  ซึ่งผู้วิจัยใคร่แจ้งว่า ก็การวิจัยเรื่องนี้เป็นเรื่องจำที่ต้องศึกษาเพื่อหาทางออกให้สังคมไทย เพื่อปลดพันธนาการอันนี้ออกไปให้พบแสงสว่างแห่งธรรมคือปัญญา ซึ่งได้ดึงจริยธรรมเชิงพุทธเข้ามาเป็นสติ สร้างปัญญาให้เข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิตและธรรมชาติ

                 ชีวิตที่มองไม่เห็นนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่เทวดาซึ่งเป็นสื่อที่ดี น่าอบอุ่นใจ ไม่น่ากลัว ไม่น่าสยดสยอง ต่างจากพวกมาร เปรต อสุรกาย ผีที่เป็นสื่อแห่งความน่ากลัวซึ่งเขาเหล่านี้จะอาศัยกุศลผลบุญที่มนุษย์ทำบุญอุทิศไปให้ ถ้าไม่ได้รับก็จะแสดงการรังครวญ ดังที่ปรากฏแก่พระเจ้า         พิมพิสาร ซึ่งต่างจากเทวดาที่ไม่หลอกหลอนให้น่ากลัวอะไร กลับจะเป็นมิตร ชอบ ชื่นชมในการทำดีของมนุษย์อีกด้วย

                 พระพุทธศาสนา และชาวพุทธซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาไม่ใช่มุ่งเน้นจะเรียนรู้หลักธรรมคำสอนเท่านั้น  ยังมีหวังพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ โดยยกให้พระพุทธชินราชนี้มีฤทธิ์มีเดชคอยบันดาลให้โชคให้ลาภด้วย เรื่องนี้ ถ้าเป็นการสมมติฐานของผู้วิจัยแล้วก็ตรงตามที่สมมติฐานเลยว่า ชาวพุทธไทยมีระดับนับถือพระพุทธศาสนากัน ๓ ระดับ กล่าวคือ

                        ๑.  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาระดับสะเก็ด (ของต้นไม้) หมายถึง ระดับชาวบ้านที่ยึดมั่นในเรื่องบุญ-บาป มีความเป็นคนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไว้สูง บางคนแม้จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็เคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อบุญทำกรรมแต่ง เชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อในพิธีกรรมหมั่นทำบุญตักบาตร เชื่อในการบนบานศาลกล่าว เชื่อในความแปลกแหวกแนวทางธรรมชาติ เช่นต้นออกหัวปลีกลางลำต้น  เรียกว่าเชื่อตามฤกษ์ตามประเพณีสืบ ๆ มา

                        ๒.  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาระกระพี้ หมายถึง ระดับชาวบ้านที่อยู่ในถิ่นเจริญ อยู่ใกล้วัดที่มีการเทศน์ การบรรยายธรรม ให้ความรู้มีศรัทธาที่ถูกต้อง ไม่เน้นแต่เรื่องพิธีกรรมมากมายจนลืมเผยแผ่คำสอนทางศาสนา ความจริงชาวบ้านระดับนี้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ดีกว่าระดับกระพี้ที่สำคัญคือมีเหตุผลในการความเชื่อศรัทธาดี

                        ๓.  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาดับแก่น หมายถึง ระดับชาวบ้านที่อยู่ในแวดวงการศึกษา มีระดับความรู้ชั้นครูอาจารย์หรือได้ศึกษาเรียนรู้ธรรมะมากพอสมควร แต่ยอมรับในกิจกรรมทางศาสนา แม้จะเป็นพิธีกรรมก็ยอมรับได้ และเข้าใจเหตุผลของการกระทำและเหตุที่เชื่อตามหลักวิชาการที่เป็นทางออกของสังคมอันจะนำไปสู่สันติภาพทุกระดับชั้น ตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน องค์กร จนถึงระดับประเทศก็ได้

                 ถามว่า ผู้นับถือทั้ง ๓ ระดับของชาวบ้านข้างต้นนี้ ระดับใดสำคัญกว่ากัน ต้องตอบว่า สำคัญเท่า ๆ กัน เพราะอะไร เพราะความอยู่รอดของต้นไม้นั้น จะต้องมีทั้งเปลือก เมื่อมีเปลือกก็มีกระพี้ โดยหน้าที่ของเปลือกคือลำเลียงอาหาร ปุ๋ย น้ำไปเลี้ยงลำต้น ทำให้ต้นไม้ยืนต้นอยู่ได้  ถ้าต้นไม้มีแต่แก่น ไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้เลย ก็ยืนต้นอยู่ไม่ได้ ส่วนกระพี้นั้น เป็นสิ่งที่มากับเปลือกซึ่งเปลือกจะสลัดสภาพที่หมดอายุแล้วออกไป แล้วเพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่เป็นการปลูกถ่ายให้ต้นไม้อยู่รอดต่อไป ขณะเดียวกันนี้ พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีแต่แก่นคำสอนที่จะมีสนองตอบแก่คนที่มีการศึกษาก็อยู่รอดยาก แต่ถ้ามีแต่พิธีกรรม ไม่มีกิจกรรมการเผยแผ่ธรรมของวัดวาเลยก็อยู่รอดยาก ดังนั้น ต้องมีระดับผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่คละปะปนกันไป เหมือนต้นไม้ที่ทั้งเปลือก กระพี้และแก่นอย่างนี้ก็จะอยู่รอดตลอดไป

                 ถ้าถามผู้วิจัยว่า เชื่อการให้ผลของการบนบานนี้หรือไม่ ต้องบอกว่าเชื่อ แล้วเชื่อมากน้อยขนาดใด ก็บอกได้ว่า เราเชื่อมั่นต่อจริยธรรม คุณธรรมของเทพของพรหม ที่มีแต่ความรักความเมตตาต่อมนุษย์ เชื่อในความคุ้มครองรักษาของเทพยดาอารักษ์ แต่ประการสำคัญเราต้องไหว้ดีพลีถูก ปฏิบัติในศีลธรรมด้วย เช่นเดียวกับเราที่คล้องพระเครื่อง หลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องซื่อสัตย์สุจริตด้วย ความศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์บันดาลขององค์ศักดิ์สิทธิ์หรือเกจิอาจารย์หลวงพ่อเหล่านี้จึงจะคุ้มครองเรา ก็แสดงว่าเทพต่าง ๆ นั้นรักคนดี ผู้มีศีลธรรม ขณะเดียวกันก็เกลียดคนชั่ว เมินที่จะช่วยคุ้มครองเขาได้ อย่างไรก็ตาม อำนาจแห่งความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ แม้เราจะได้รับโดยไม่รู้ เพราะเป็นเรื่องที่พูดยาก แต่ประการที่พบเห็นได้ชัดโดยประจักษ์ก็คือ เกิดพลังแห่งจิตใจ (empower of mind) ซึ่งพลังแห่งจิตใจอันเกิดจากความเชื่อศรัทธาในคุณธรรม จริยธรรมของผู้อื่นนี้ ทำให้เรามีระเบียบวิจัยในตัวเอง ดำรงตนอยู่ในความถูกต้อง เป็นธรรมต่อทุกคนไม่กล้าทำผิดต่อสิ่งหรือบุคคลที่ให้ประโยชน์ทางกายและทางจิตใจ แล้วจะเราจะเป็นผู้ประพฤติธรรมในที่สุด เกิดความสุขในชีวิตของตนและส่งผลถึงสังคมโดยส่วนรวม ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข (ธมฺมจารี สุขํ เสติ)

 

ข้อเสนอแนะ

 

                 ผู้วิจัยเสนอประเด็นที่น่าศึกษาไว้ ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีปรากฏในพระไตรปิฎก เทวดากล่าวกันว่าเป็นชีวิตหนึ่งที่มองไม่เห็นแต่ก็มีอยู่จริง บรรดาเปรต อสุรกาย มีอยู่จริงแต่ก็ไม่มองเห็นด้วยตาของมนุษย์ธรรมดา เมื่อศึกษาถึงภพภูมิของเทวดา มนุษย์ เปรต อสุรกายเหล่านี้ตกอยู่ในภพภูมิชนิดกามภูมิ คือภพภูมิที่ยังอาศัยหรือติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส ดังนั้น การบนบาน บวงสรวง ซึ่งเป็นการอัญเชิญเทพไท้เทวามารับรู้รับทราบและให้ความคุ้มครองรักษา ก็จะมีเครื่องบนบาน บวงสรวงประกอบด้วย สุรา หัวหมู ผลไม้ ไข่ต้ม พวงมาลัย ฯลฯ มากมาย จึงพูดได้ว่า เมื่อมีลักษณะอย่างนี้แล้ว ปัญหาว่าจะปฏิบัติตนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างไร จะไหว้ให้ดี พลีให้ถูกอย่างไร จึงไม่ขัดแย้งกัน ผู้วิจัยใคร่ขอเสนอแนะประเด็นการวิจัยเพิ่มเติมว่า

                 ๑.  ศึกษาวิเคราะห์คุณค่าทางจริยธรรมต่อการปฏิบัติตนต่อพิธีกรรมในศาสนาต่าง ๆ

                 ๒.  ศึกษาวิเคราะห์เจตภูตในพระพุทธศาสนาและยุกต์ใช่ในสังคม

                 ๓.  อิทธิพลของพิธีกรรมทางความเชื่อที่มีผลต่อการพัฒนาจิตใจของสังคม

                 ๔.  ศึกษาวิเคราะห์ความมีอยู่ของเทวดา ผี มาร และคุณค่าทางจริยธรรมตามแนวปรัชญา

                 ๕.  ศึกษาความเชื่อและผลจากการเข้าพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา

                 ๖.  คุณค่าและประโยชน์ของความเชื่อในพิธีกรรมทางศาสนาและไม่ใช่ศาสนา

 

กิตติกรรมประกาศ

 

                 คณะผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงต่อพระเดชพระคุณพระธรรมเสนานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกประธานที่ปรึกษาวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช ที่อนุญาตพื้นที่วิจัย ตลอดทั้งไวยาวัจกรขอวัดที่อนุเคราะห์โครงการวิจัยนี้

                 ขออนุโมทนาขอบคุณสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่สนับสนุนงบประมาณการวิจัย ขออนุโมทนาขอบคุณนิสิตวิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทที่รับเป็นผู้ช่วยวิจัยเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ ขออนุโมทนาขอบคุณผู้ตอบคำสัมภาษณ์ ญาติธรรมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารที่ให้ความร่วมมือในทุกด้าน ความดีของท่านนี้มากเหลือจะพรรณนามา ณ ที่นี้ หากกุศลใดที่จะเกิดขึ้นจากการทำวิจัยนี้ ขอมอบให้เป็นปฏิการะคุณแก่สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ คณะบุคคล และส่วนบุคคลอื่น ๆ ที่มิได้กล่าวมา ณ ที่นี้

 

เอกสารอ้างอิง

 

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.



   [1]ที.ม.(ไทย) ๑๐/๕๓/๒๙

   [2]ม.ม. (ไทย)๑๓/๙/๙.

    [3]ขุ.พุทธ. (ไทย) ๓๓/๑๐/๖๕๗.  หรือ ที.สี. อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒.

   [4]ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑๘๘-๑๙๒ /๙๒.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕