หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. » พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของชาติ
 
เข้าชม : ๒๓๔๓๑ ครั้ง

''พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของชาติ''
 
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2553)

 

พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของชาติ
โดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย



            ตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  นำโดยนายสมพร เทพสิทธา  ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  ได้นิมนต์ผู้เขียนไปอภิปรายร่วม  เรื่อง  “พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของชาติ”  กับ พระศรีญาณโสภณ    ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก นายสมพร เทพสิทธา   ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม  ซึ่งดำเนินการโดย นายวรเดช อมรวรพิพัฒน์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ในวันศุกร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓  ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชั้น ๓  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นั้น (http://www2.nesac.go.th/nesac/th/whatsnew/detail.php?myLeftMenu=&myDataID=1038&myModuleKey=newsother&TxtSearch=ประชาสัมพันธ์&pic=main_46.gif)  ผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญในการการอภิปรายของผู้เขียนมานำเสนอเป็นบทความเรื่องสั้น ดังนี้

๑. เกริ่นนำ: ชาติวิกฤต วิกฤตชาติ

            เมื่อกล่าวถึงสภาวะการณ์ของชาติในยุคปัจจุบันนี้ หากวิเคราะห์คำว่า "ชาติ" ภายในกรอบของโลก ๓ ในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ โอกาสโลก  มนุษย์โลก และสังขารโลก จะพบว่า ชาติกำลังประสบภาวะวิกฤติใน ๓ ความหมาย กล่าวคือ ชาติในความหมายของผืนแผ่นดินไทย  ชาติในความหมายของพลเมือง และชาติในความหมายของการเกิดในภาษาธรรม  การที่จะออกจากภาวะวิกฤติมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า ชาติทั้ง ๓  ความหมายนั้น ประสบกับภาวะวิกฤติอย่างไร

            ๑.๑ ชาติในความหมายของผืนแผ่นดินไทย

            ชาติไทยในความหมายนี้ กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ในหลายๆ มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ  กล่าวคือ ทางบกในหลายพื้นที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้งอันเนื่องจากฝนฟ้าตกไม่สอดรับกับฤดูกาล  สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าทำให้ขาดพื้นที่สีเขียวซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา  ในขณะที่ทางน้ำนั้นเต็มไปด้วยวิกฤติการณ์ด้านแหล่งน้ำที่สกปรกและเน่าเสียอันเนื่องมาจากมนุษย์ในชาติ รวมไปถึงสภาวะน้ำทะเลหนุนและกัดเซาะพื้นที่ของแผ่นดินไทยในเขตบางขุนเทียน จะเห็นว่า เราได้สูญเสียแผ่นดินไทยอันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ในเขตที่ติดกับเพื่อนบ้านของเรา (ดูเพิ่มเติมใน http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEkzTURjMU13PT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1
DMHdOeTB5Tnc9PQ==)  นอกจากนั้น สภาวะอากาศในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ของชาติไทย มักจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่เป็นพิษต่อร่างกาย อันเนื่องมาจากก๊าซพิษจากท่อไอเสีย และโรงงานต่างๆ ในภาคตะวันออกของประเทศไทย

             ๑.๒ ชาติในความหมายของพลเมืองไทย

             ช่วงเปลี่ยนผ่านเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่า “การเกิดขึ้นของระบบการเมืองการปกครองประการหนึ่งก็เพื่อแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับการของชนชาติในชาติโดยเฉพาะการทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรของชนในชาติอย่างเท่าเทียม และเสมอภาคเพื่อให้พลเมืองในชาติเกิดความพึงพอใจจริงหรือ?”  แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐใน “อัคคัญญสูตร” ก็ย้ำให้เห็นถึงประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งปันทรัพยากรของคนในรัฐอย่างเท่าเทียม  และเที่ยงธรรม แต่เพราะเหตุใด การสร้างชาติโดยการนำของรัฐไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงไม่สามารถดำเนินนโยบายและแนวทางให้สอดรับกับปรัชญาดังกล่าวเท่าที่ควรจะเป็นตามข้อสังเกตของพลเมืองไทยหลายกลุ่ม

             ด้วยเหตุดังกล่าว  จะพบว่า ร่องรอยของความขัดแย้งและแบ่งข้างจึงเกิดขึ้นตามมาเพราะพลเมืองบางกลุ่มมองว่า เมื่อรัฐไม่สามารถที่จะหยิบยื่นความยุติธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มของตัวเองได้อย่างเพียงพอ  และสอดรับกับความต้องการ จึงมีความจำเป็นที่แต่ละกลุ่มจะต้องออกมาทวงสิทธิ และถามหาสิ่งที่ตัวเองและกลุ่มตัวเองต้องการจากรัฐ  โดยมองว่ารัฐคือผู้ “กุม” ทรัพยากร และสิ่งที่ตัวเองต้องการ ฉะนั้น การปะทะกันระหว่างพลเมืองซึ่งหมายถึงรัฐกับประชาชนจึงเกิดขึ้นมาในชาติไทยอย่างต่อเนื่อง

            จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนในฐานะนักขัดแย้งวิทยาจึงอธิบายว่า “การที่คนสองคน หรือคนสองกลุ่ม ต้องการสิ่งเดียวกัน และในเวลาเดียวกัน  จึงทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น” แต่ “หากคนสองคน หรือคนสองกลุ่มต้องการสิ่งเดียวกัน แต่คนละเวลา ยากยิ่งที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้” ฉะนั้น การที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของคนมีไม่จำกัด ภาวะขัดแย้งกันทางผลประโยชน์และความต้อการจึงเกิดขึ้น

             การที่จะให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และความต้องการดังกล่าวนั้น เมื่อมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยึดครองอยู่ และเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการย่อมมีความจำเป็นต้องสร้างความเป็น “อัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม” ขึ้นมา  โดยการ “แบ่งข้าง” ของคนในชาติไทยออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ใช้ “อัตลักษณ์” ดังกล่าว ดำเนินการต่อรอง และเรียกร้องผลประโยชน์ตามที่กลุ่มตนปรารถนา และเมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดการขัดขืน และไม่ยินยอมที่จะสูญเสียสิ่งที่ตนยึดครอง  จึงนำไปสู่การแย่งชิงในลำดับต่อมา ซึ่งผลจากการแย่งชิงนั้น ได้นำมาสู่การ “นองเลือด” ที่อาบรดผืนแผ่นดินไทยจากคำว่า “ชาติคือแผ่นดิน” ไปสู่คำว่า “ชาดคือเลือดสีแดงที่อาบนองแผ่นดิน”  และตราบเท่าที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ยังไม่สามารถที่จะเจรจา และต่อรองผลประโยชน์ของชนในชาติ ตราบนั้น  ชาติก็จะยังคงเป็นชาดอยู่เช่นนี้ต่อไปจนยากที่จะหาจุดจบในเร็ววันได้

 
            ๑.๓  ชาติในความหมายของการเกิด 

            ชาติในภาษาธรรม  หมายถึง “การเกิด”  กล่าวคือ เกิดการยึดมั่นถือมั่นในความเป็นชาติ  (ชาตินิยม) ความยึดมั่นที่เต็มไปด้วยความมืดบอด และขาดความรู้เท่าทันความเป็นชาติได้ก่อให้เกิดผลเสียตามามากมาย  การรู้เท่าทันความเป็นชาติคือรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้น และเกาะกินใจของพลเมืองในชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พลเมืองในชาติยึดมั่น “โลกธรรม” หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาวะความมีลาภ เสื่อมลาภ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา

            ในขณะเดียวกัน การเกิดดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธ ความกลัว และเกลียดชังเพื่อนร่วมชาติ ในเมื่อกลุ่มหนึ่งมองว่ากลุ่มหนึ่งปรารถนาจะแย่งชิงสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่ อีกทั้งตัวเองไม่ปรารถนาที่จะสูญเสียสิ่งที่มีและเป็น  แต่อีกกลุ่มเกิดความรู้สึกว่า เพราะเหตุใดจึงไม่แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นให้ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม  เมื่อทั้งสองฝ่ายเกิดความรู้สึกอึดอัด คัดเคือง เนื่องจากไม่สมนัยในความอยาก  อีกทั้งความมีและความเป็นกำลังถูกบั่นทอน และได้รับการกระทบกระเทือน จึงก่อให้เกิดภาวะตีบตัน คับแค้นใจนำไปสู่ความโกรธ ความเกลียด ทำร้าย และทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ขัดขวางใจของตัวเองมิให้สมกับความอยากมีและอยากเป็น

            การไม่รู้เท่าทัน “ชาติ” หรือการเกิดขึ้นของกิเลสในแง่ของโลกธรรมดังกล่าว  จึงเป็นผลให้ชาติในความหมายของแผ่นดิน และชาติในความหมายของพลเมืองจึงเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง สับสน และไร้ระเบียบดังเช่นที่ประจักษ์ชัดมาหลายปีในสังคมไทย  ฉะนั้น การหวนไปสู่ความหมายดั้งเดิมของชาติในภาษาธรรม คือการย้อนกลับไปหาความเป็นชาติแบบดั้งเดิมที่เราเคยเป็น แต่ความจริงในปัจจุบันก็คือ  ชาติในความหมายของภาษาคนได้เดินไปไกลจากความหมายที่แท้จริงในภาษาธรรม  การที่จะฟื้นฟูความเป็นชาติ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง หรือความสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงต้องเริ่มฟื้นฟู ปรองดอง และสมานฉันท์กันที่ชาติในความหมายของธรรมก่อนสิ่งอื่นใด

๒. ชาติไทยกำลังบรรลัยด้วยไฟ ๓ กอง

            ปรากฏชัดว่า ไฟ ๓ กองเผาผลาญสังคมไทยในยุคปัจจุบัน และอุณหภูมิของความร้อนได้ขยายพื้นที่ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทั้งภายนอกและภายในใจของพลเมืองไทย

            ไฟกองที่ ๑: ไฟแห่งความอยาก ไฟกองนี้ทำหน้าที่ในการไฟลนหมู่ชนในสังคมไทยที่กระหาย และต้องการประโยชน์ และทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพึงพอใจ และตกอยู่ในห้วงแห่งโลกธรรม มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา ภาวะของความอยากมีอำนาจ หรือสิ่งเสพ และอยากเป็นสิ่งใดหรือสิ่งหนึ่งมากเกินกว่าศักยภาพที่ตัวเองจะมีหรือเป็นดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์และความต้องการของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง และเมื่อใดก็ตามกลุ่มคนต่างๆ ไม่สามารถที่จะประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มได้ ไฟแห่งความอยากมีอยากเป็นก็คงทำหน้าที่เผาไหม้จิตใจของพลเมืองในสังคมไทยต่อไป

           ไฟกองที่ ๒: ไฟแห่งความโกรธ เราอยู่ในสถานการณ์ของความเกลียดชังมาหลายปีแล้ว และในปัจจุบันนี้ความเกลียดชังก็ยังคงอยู่ และนับวันจะฝังรากลึก ร้อนรนอยู่ภายในใจ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ พบว่า ความเกลียดชังมีจุดเริ่มจากความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านข้อมูล ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ค่านิยม และโครงสร้าง แต่เพราะความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการในวิถีทางที่ไม่เหมาะสม หรือถูกกดทับด้วยอำนาจ หรือสิ่งอื่นๆ เอาไว้ จึงทำให้ความขัดแย้งได้กลายพันธุ์ไปสู่ "ความรุนแรง" ดังที่ปรากฏในสถานการณ์ปัจจุบัน และแม้ว่าฝ่ายใดจะชนะ หรือแพ้ แต่อุณหภูมิของความเกลียดชังยังฝังตัวอยู่ และรอเวลาที่จะปะทุอีกครั้งในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย 

           ไฟกองที่ ๓: ไฟแห่งความไม่รู้  ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ บางแง่มุมของเมืองไทยเป็นเมืองแห่ง "โมหะ" หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "สังคมแห่งอวิชชา" หรือ "เป็นเมืองแห่งความไม่รู้" กล่าวคือ ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรชั่ว ไม่รู้ว่า อะไรสูง อะไรต่ำ และนำไปสู่สังคมแบบไม่รู้ไม่ชี้ จะเห็นว่า วิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชาติไทยขณะนี้ ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ได้ว่า ปัญหาคืออะไร แต่ละปัญหานั้นเกิดจากสาเหตุใด และจะเดินไปสู่จุดจบ หรือแนวทางแก้ไขร่วมกันได้อย่างไร เหล่านี้คือความตีบตัน และอับจนหนทางที่สังคมไทยจะใช้ปัญญาในการแก้ไขในระยะเวลาอันสั้น
 

๓. ธรรมะไม่สว่างไสว  ชาติไทยจะพินาศ

            หากพุทธทาสภิกขุมีความเชื่อมั่นในคำกล่าวที่ว่า “ธรรมะไม่กลับมา โลกาจะพินาศ”   เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของความเป็นชาติทั้งแผ่นดิน พลเมือง และชาติคือการเกิด ผู้เขียนก็มีความเชื่อมั่นเช่นกันว่า “หากธรรมะไม่สว่างไสว ชาติไทยจะพินาศ”   คำถามคือ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ธรรมะชุดใด หรือชนิดใดที่มีความจำเป็นจะต้องสว่างไสวในสังคมไทย  ผู้เขียนมองว่า  ควรจะประกอบด้วยหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้

            ๓.๑ ความจริงเป็นสิ่ง “ต้องค้นหา”

            สัจจะ ความจริง เป็นปฐมธรรมในฆราวาสธรรม  เพราะในสังคมฆราวาสนั้น การดำรงอยู่ด้วยความจริงจะทำให้ใครคนหนึ่งคนหนึ่งไม่รู้สึกหวาดระแวง และมีความเชื่อมั่นกันและกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการกระทำของแต่ละฝ่าย จะเห็นว่า ความจริงเป็น “ห่วงโซ่” ที่สำคัญในการเชื่อมคนในชุมชนและสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมั่นใจ เพราะมีความเชื่อใจในสิ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสื่อสาร หรือแสดงออกทางกายภาพ

            ชาติไทยในแง่ของพลเมืองกำลังประสบกับปัญหาสำคัญและยิ่งใหญ่กระการหนึ่ง คือ ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำเสนอความจริง  ในสถานการณ์ของความไม่เข้าใจกัน และขุ่นข้องหมองใจกันนั้น ณ  เวลาหนึ่ง การนำเสนอความจริงอาจจะยุ่งยาก และเป็นไปได้ยากเพราะความไม่พร้อมในแง่ของการยอมรับข้อเท็จจริง  แต่เมื่อในช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้น ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

             เหตุผลสำคัญในการเปิดเผยข้อเท็จจริงก็คือ เพื่อว่าจะได้ร่วมกันแสวงหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร สาเหตุเกิดจากตัวแปรอะไร อะไรเป็นตัวแปรหลัก และตัวแปรรอง  ในขั้นตอนสุดท้าย  เราจะหาแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการจัดการกับสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคได้อย่างไร จึงจะทำให้เราสามารถร่วมคิด ร่วมตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อป้องกันมิให้สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาร่วมกันเกิดขึ้นมาทำลายมิตรภาพ และสังคมไทยครั้งแล้วครั้งเล่า

             คำถามมีว่า “การพูด หรือนำเสนอความจริงอาจจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด”  ฉะนั้น “ไม่จำเป็นอันใดที่มนุษย์จะต้องเข้าไปเรียนรู้และใส่ใจ”  ด้วยเหตุนี้  “ทำไมเราจึงไม่ปล่อยให้ข้อเท็จจริงผ่านพ้นไปด้วยการนั่งกดทับ หรือให้เลือนหายไปกับวันและเวลา” โดยให้กาลและเวลาทำหน้าที่ในการเยียวยามนุษย์เอง  การกล่าวในลักษณะเช่นนี้อาจจะมีความถูกต้องในบางบริบท ซึ่งอาจจะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการค้นหาความจริง หรือนำความจริงมาเปิดเผยและแสดงร่วมกัน เพื่อว่าเราจะได้ทำหน้าที่ในการมองทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงร่วมกัน และหลังจากนั้น เราจะได้มี “ท่าทีใหม่ต่อความจริงที่ได้เปิดเผยออกมา”

             กล่าวโดยสรุป ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่เคยตายไปจากมนุษย์และสังคม  แต่การละเลยความจริง และนั่งกดทับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างละเลยและไม่ใส่ใจนั้น  ความจริงจะทำหน้าที่ในการหลอกหลอนมนุษย์ทั้งในขณะตื่น และหลับ ตราบเท่าที่ความจริงยังไม่ได้รับการเปิดเผย และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามครรลองที่ควรจะเป็นภายใต้วิถีแห่งธรรม

           ๓.๒ การเยียวยาความรู้สึก “ต้องทำ”

           ในการดำรงชีวิตของความเป็นมนุษย์ “ความรู้สึก” หรือในภาษาพระเรียกว่า “เวทนา” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญประการหนึ่งต่อมวลมนุษย์ในเชิงปัจเจก   จะมีทั้งความรู้สึกที่เป็นทั้งความสุข  ความทุกข์ และรู้สึกเฉยๆ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ามากระทบในแต่ละขณะจิต  อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ความรู้สึกของมนุษย์ในเชิงปัจเจกมิได้ส่งต่อตัวของแต่ละคนเท่านั้น แต่กลับส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยการแสดงออกต่อคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมด้วย

           เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชาติไทยของเราปัจจุบันพบความจริงบางประการว่า ชาติในความหมายของพลเมืองบางกลุ่มได้เกิด (ชาติ) ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดความรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาค ความรู้สึกว่าได้รับความเจ็บปวดและทรมานจากการถูกกระทำ และเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเพื่อนร่วมชาติ  ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า “ทุกขเวทนา” กล่าวคือ ความรู้สึกว่ากำลังได้รับความทุกข์ที่เป็นผลจากการดำเนินการของเพื่อนร่วมชาติทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  ทั้งด้วยเจตนาที่ดี หรือไม่ดีก็ตาม

            การเกิด (ชาติ) ความรู้สึก (เวทนา) เช่นนี้  เป็นประเด็นที่ “อ่อนไหว” และ “หมิ่นเหม่”  ต่อการสร้างชาติ “ร่วมกัน” ของคนในชาติ   และนับเป็น “กับดักสำคัญ” ต่อการที่จะนำชาติไปสู่ความผาสุก ด้วยเหตุนี้  จึงนำไปสู่คำถามที่สำคัญก็คือ มีหนทางใดที่เราน่าจะ หรือควรจะ “เยียวยาความรู้สึก” ของคนในชาติให้เกิดความรู้สึกมีความสุขอุ่นใจ และสุขใจ (สุขเวทนา) ที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในชาติไทยร่วมกันอย่างสันติสุข

            มาตรการในการเยียวยาความรู้สึกนั้น อาจจะเป็นไปทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เยียวยาทั้งในเชิงกายภาพ และจิตภาพ เยียวยาทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ อันเป็นมาตรการที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะ “วัตถุ” แต่เพียงประการเดียวกัน  หากแต่อาจจะ “หยิบยื่นความเสมอภาค ความยุติธรรม และความเป็นธรรม”  ตามกรอบและบริบทที่แต่ละท่านเพียรสร้าง และเสาะแสวงบทบาทฐานและครรลองของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชาติไทยปัจจุบัน

             ๓.๓ กรรมใดก่อให้เกิดความกลัว  “ต้องละ”

            “ความกลัวเป็นกิเลสธรรมประการหนึ่งที่กั้นจิตมนุษย์ไม่ให้เข้าถึง ความจริง ความดี และความงาม”  ในขณะเดียวกัน   ความกลัวเป็นที่มาของความเสื่อมทั้งในแง่ปัจเจก และสังคมโดยร่วม กล่าวคือ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งเกิดความกลัว ก็ไม่กล้าที่จะแสดงออก หรือกระทำการสิ่งใดที่อาจจะนำมาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเองและสังคม  และพร้อมกันนี้  การที่พลเมืองในชาติไทยเกิดความกลัวซึ่งกันและกัน  ย่อมทำให้หมู่ชนไม่กล้าที่จะแสดงออก หรือสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และมีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ในสังคม  ด้วยเหตุนี้ ความกลัวจึงมิได้ส่งผลดีทั้งต่อตัวมนุษย์ในเชิงปัจเจก และสังคมในภาพกว้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะพยายามที่จะสร้าง "เงื่อนไขที่นำไปสู่ความกลัว" ของพลเมืองภายในชาติ หรือสร้างความกลัวขึ้นมาเป็น "หล่ม" เพื่อให้ทำให้ชาติไทยทั้ง ๓ ความหมาย "ติด" จนยากต่อการสร้าง "ความปรองดอง" ของชนในชาติได้

              การอยู่ร่วมกันของคนในชาติจึงเป็นการหยิบยื่น “ความไม่กลัว” ให้แก่กันและกัน ซึ่งสอดรับกับสังคมแบบ “อภัยทาน” (อ แปลว่า ไม่ + ภะยะ แปลว่า กลัว) กล่าวคือ “หยิบยื่น หรือมอบความไม่กลัวให้แก่กันและกัน”  ในฐานะกัลยาณมิตรไม่มีความจำเป็นอันใดที่เราจะพูด หรือแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำให้เพื่อนร่วมชาติเกิดความหวาดกลัว หรือหวาดระแวง  ด้วยเหตุนี้  หน้าที่ที่ต้องเสาะแสวงหาโดยเร่งด่วนคือ สิ่งใด หรือการณ์ใดที่เพื่อนร่วมชาติของเราเกิดความหวาดกลัว หรือหวาดระแวงต่อการกระทำ หรือการแสดงออกของเรา  วิธีการในการแสวงหานั้นสามารถทำได้โดยการดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง “ผู้ที่กำลังทำให้คนอื่นรู้สึกหวาดกลัว” และ “ผู้กำลังรู้สึกหวาดกลัว” มาพบปะ พูดคุยในกาล เวลา โอกาสและสถานที่ที่เหมาะสม (Inclusive Society) โดยไม่พยายามที่จะผลักกลุ่ม หรือฝ่ายต่างๆ ที่กำลังหวาดกลัวออกไปให้เป็นคน “ชายขอบ” และอยู่เพียงลำพังไร้ซึ่งการสนใจ และใส่ใจ (Exclusive Society)
­­­­­­

             ๓.๔ ธรรมใดสะสมความเชื่อมั่น  “ต้องเพิ่มพูน”

             ความเชื่อมั่นเป็นปฐมบทของยิ่งใหญ่ หรืออำนาจที่ยั้งยืนในพระพุทธศาสนา ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถต้องดึงความเชื่อมั่นของคนในสังคมคืนมา เพราะในขณะนี้ หลายคนเหล่านี้สูญเสียความเชื่อมั่นระหว่างกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อใจกัน จะนำไปสู่การมั่นใจกันและกัน เพราะการอยู่ด้วยกัน ความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ความเชื่อมั่นจะนำไปสู่ความกล้าที่จะตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน  ความเชื่อมั่นจะนำไปสู่ความกล้าที่จะเดินตามแนวทางที่ผู้นำได้วางเอาไว้  ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำต้องพอกพูนอย่างเดียวด่วน คือ ต้องทำให้ผู้ตามรู้สึกว่าเชื่อใจ และมั่นใจในผู้นำทั้งในความคิด การพูด และการกระทำ

             วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของสามก๊กได้พูดถึงการสร้างความเชื่อมั่นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ขงเบ้งสั่งให้เตียวหุยไปยึดเมือง แต่การยึดเมืองที่ยั่งยืนนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การยึดพื้นที่ของเมือง หรือยึดเมืองในเชิงกายภาพ แต่เป็นการยึดเมืองในเชิงจิตภาพ คือ “ยึดใจของพลเมือง”  เมื่อไปถึงเตียวหุยสามารถทำศึกและยึดเมืองได้ตามประสงค์ แต่ครั้นยึดเมืองได้ เตียวหุยได้ลืมคำของขงเบ้งว่า “ให้ยึดใจของพลเมือง” โดยกินเหล้าเมายาแล้วเฆี่ยนตีทหารเลว  ทำให้ทหารเลวเหล่านั้น เสาะหาโอกาสที่จะล้างแค้นเตียวหุน  ในที่สุดก็ประสบกับโอกาสที่เหมาะเมื่อเตียวหุยกินเหล้าเมายาแล้วนอนหลับโดยไม่รู้สึกตัว จึงพากันใช้เชือกมัดไพล่หลัง แล้วตัดคอไปส่งให้แก่โจโฉเพื่อขอความดีความชอบ

             ประเด็นนี้  ย้ำเน้นให้เห็นว่า การยึดใจพลเมืองกับยึดพื้นที่ในเมืองนั้น  มีนัยที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ  ภาระที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชได้แสดงตัวอย่างและให้แนวทางที่เป็นแบบอย่างที่ดีว่า การรบเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และยั้งยืนนั้นมิสามารถได้มาด้วย “คมหอก หรือคบดาบ” หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “การได้มาซึ่งอำนาจด้วยการใช้ความรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง” นั้น ไม่สามารถทำให้ “การดำรงอยู่ของอำนาจ” ยั้งยืนและยาว  สิ่งนี้ ประจักษ์ได้จากประเด็นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำในกรณีของพระเจ้าปเสนทิโกผู้ทำศึกสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งแพ้สงครามในการทำศึกครั้งแรก แต่ชนะในครั้งที่สองว่า “เมื่อใดบาปให้ผล ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ”  แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้พระเจ้า ปเสนทิโกศลจะชนะและจับพระเจ้าอชาตศัตรูในสนามรบได้แต่พระองค์ก็ทรงปล่อยตัวไปด้วยเหตุผลที่ “พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นญาติของเรา”

             ฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระเจ้าอโศกมหาราชได้เปลี่ยนจากการเอาชนะด้วยคมหอก หรือคมดาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงไปสู่ “ธรรมวิชัยยุทธ์” นั่นคือ “การเอาชนะใจของคนด้วยความธรรมหรือความดี”  โดยเฉพาะธรรมที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ใช้เป็นหลักปฏิบัติคือ “ทศพิธราชธรรม” นั่นเอง ซึ่งหลักการเหล่านี้ ได้ทำให้ชาติในความหมายของคำว่า แผ่นดิน พลเมือง และการเกิดความรู้สึกเชื่อใจและมั่นใจ มีความร่มเย็น และเป็นสันติสุขมากยิ่งขึ้น

๔. บทส่งท้าย


             ชาติไทยในยุคปัจจุบันนี้กำลังประสบภาวะวิกฤติใน ๓ ความหมาย กล่าวคือ ชาติในความหมายของผืนแผ่นดินไทย  ชาติในความหมายของพลเมือง และชาติในความหมายของการเกิดในภาษาธรรมที่พลเมืองลุ่มหลง มัวเมา และยึดมั่นถือมั่นในโลกธรรม จนเป็นที่มาของการขัดแย้งและแบ่งข้างทั้งผืนดิน และกลุ่มคนในสังคมไทย

             การที่จะออกจากภาวะวิกฤติมีความจำเป็นที่จะต้องดึงธรรมะให้กลับคืนมาสู่จิตใจของชนในชาติดังคำกล่าวที่ว่า “ธรรมะไม่สว่างไสว ชาติไทยจะพินาศ” โดยร่วมกันพิจารณา และนำหลักการที่สำคัญ คือ ความจริงเป็นสิ่งต้องค้นหา เยียวยาความรู้สึกต้องทำ กรรมใดก่อให้เกิดความกลัวต้องละ ธรรมใดสะสมความเชื่อมั่นต้องเพิ่มพูน มาเป็นฐานในการสร้างความรู้สึก ความเข้าใจ และการแสดงออกร่วมกัน

             การแสวงหาความจริงจะนำไปสู่ความกระจ่างชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และความจริงดังกล่าวจะเป็นบาทฐานสำคัญในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างสันติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ความจริงดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเยียวยาความรู้สึกของชนในชาติที่ถวิลหาความยุติธรรม ความเสมอภาค และความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การให้อภัยคือความไม่กลัว และไม่หวาดระแวง ดำรงชีวิตด้วยความเชื่อใจ และมั่นใจซึ่งกันและกันทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ไฟล์วีดิโอในการอภิปราย

http://www.youtube.com/watch?v=LHjFNzUQRJ8&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=EjSJ4nW22xA&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=QPgt4LHuMDw&feature=related

ขอเชิญร่วมแบ่งปันความรู้ (KS) ได้ที่
http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/372356

ดูไฟล์วีดีโอเพิ่มเติมได้ที่
http://www.youtube.com/hansa1536

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕